วิกฤตการศึกษาไทยในยุค 4.0

วิกฤตการศึกษาไทยในยุค 4.0

บทนำ
            การศึกษาไทยตลอดระยะเวลา นับ 10 ปีที่ผ่านมาเราจะได้ยินคำว่า “ ปฏิรูปการศึกษา” จนเคยชิน และเคยชินกับความไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงของการปฏิรูปการศึกษา ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาก็เช่นเดียวกัน มักจะชูนโยบายหลักในการหาเสียงหรือสร้างความเชื่อมั่น คือ การพัฒนาการศึกษา แต่เมื่อได้เข้ามา บริหารประเทศ การปฏิรูปการศึกษาไม่ค่อยมีความก้าวหน้า อาจเพราะนักวิชาการต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีประสบการณ์เป็นผู้สอนในสถานศึกษา จึงไม่เข้าใจปัญหาที่มีอยู่จริงในสถานศึกษา จะเข้าใจตามหลักการหรือทฤษฎีการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการบางคนมีศักยภาพด้านการศึกษา ไม่เพียงพอ และแก้ปัญหา ไม่ตรงจุด มุ่งให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างการบริหาร ที่ไม่เกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษาโดยตรง จึงทำให้การศึกษาไทยเปรียบเสมือนพายเรือในอ่าง แม้จะพยายามสร้างเครื่องมือกลยุทธ์สารพัดรูปแบบมาแก้ปัญหาการศึกษา เสียงบประมาณมากมายมหาศาล แต่ไม่สามารถจะพัฒนาได้อย่างชัดเจน นอกจากพายเรือในอ่างแล้ว เรือนั้นยังรั่ว แม้อุดรอยรั่วสักเท่าไหร่ เรือยังคงรั่วดังเดิม รอยรั่วนั้นคือปัญหาดังได้กล่าวมาแล้วนั้นเอง ปัญหาการศึกษาไทยนั้นหมักหมมมานานการแก้ไขต้องใช้ระยะเวลาคงต้องค่อยๆ แก้ไขกันไป จะไม่ทำก็ไม่ได้เพราะเป็นเรื่องจำเป็นซึ่งนี่คืออนาคตของประเทศไทย ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรต้องมาหารือกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน
           ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันในด้านต่างๆ สูงมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการค้าและเทคโนโลยี สำหรับประเทศไทยตามนโยบายผู้นำประเทศ นำคำว่า Thailand 4.0 มาขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้นโดยเฉพาะด้านการศึกษาซึ่งเป็นการพัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถซึ่งต้องเน้นด้านคุณธรรมและจริยธรรม โดยเฉพาะด้านความซื่อสัตย์เพื่อเป็นการสร้างคนดีไปสู่สังคม นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547-2548 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้พยายามที่จะพัฒนาโรงเรียนต่าง ๆ ให้เป็นโรงเรียนตามแนววิถีพุทธและโรงเรียนคริสต์ เพื่อเป็นการปลูกฝังคุณธรรมในเด็กไทยตั้งแต่วัยเด็กให้มีคุณลักษณะที่ประเทศต้องการยกตัวอย่างระบบการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ และประเทศจีนที่ได้นำระบบการวัดผลแบบ PISA ( Programme for International Student Assessment)มาใช้เพื่อนำมาพัฒนาเด็กซึ่งประสบความสำเร็จโดยเฉพาะในประเทศจีนที่มณฑลเซี่ยงไฮ้พบว่า เด็กนักเรียนมีผลคะแนนในการสอบวัดผลทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ทิศทางในการพัฒนาประเทศไทย มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องโดยแบ่งออกเป็น 4 ยุค ได้แก่ประเทศไทย 1.0  เน้นการเกษตรเป็นหลัก ประเทศไทย 2.0 เน้นอุตสาหกรรมแต่เป็นอุตสาหกรรมเบา
ประเทศไทย 3.0  เป็นอุตสาหกรรมหนักและการส่งออก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ประเทศไทย 4.0 เป็นยุคเทคโนโลยี Creative และ Innovation เน้นการสร้างให้คนไทยสามารถคิดเองได้
            ประเทศไทย 4.0  จึงควรมีการเปลี่ยนวิธีการที่มีลักษณะสำคัญ คือ เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมในปัจจุบัน ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) เปลี่ยนจาก Traditional SMEs หรือ SMEs ที่มีอยู่และรัฐต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups เปลี่ยนจาก Traditional Services ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำ ไปสู่ High Value Services และเปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและทักษะสูง (ดร.ชวลิต โพธิ์นคร : 2560 ) ดังนั้นการศึกษาไทยยุค 4.0 จะเดินหน้าในทิศทางใด ท่ามกลางปัญหกรศึกษาไทยที่มีคุณภาพตกต่ำเหมือนระเบิดเวลาที่กำหนดชะตากรรมประเทศไทยในอนาคต การปฏิรูปการศึกษาที่ทำมาหลายครั้ง แม้มีการแก้กฎหมายปรับปรุงกระทรวง ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารต่างๆ ปรับปรุงหลักสูตรแล้วก็ตาม แต่ปัญหาการศึกษาไทยที่สะสมหมักหมมมานานยังคงแก้ไขไม่สำเร็จ ในยุค 4.0 เราจำเป็นต้องเตรียมคนให้มีคุณภาพเพื่อแข่งขันกับนานาประเทศ ประเทศเพื่อนบ้านของไทยหลายประเทศที่เคยล้าหลังทางการศึกษา โดยประเทศไทยนั้นจากการจัดอันดับของ Programme for International Students Assessment 2015 หรือ PISA 2015 โดยประเทศไทยนั้นผลคะแนน PISA 2015 ระบุว่าความสามารถทางด้านการศึกษาของเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยเฉลี่ยนั้นอยู่ที่อันดับ 55 จาก 70 ประเทศ ในขณะที่ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์อยู่ที่อันดับ 54 ความสามารถทางการอ่านอันดับ 57 และความสามารถทางคณิตศาสตร์อยู่อันดับที่ 54 ผลคะแนน PISA 2015 ระบุว่าความสามารถทางด้านการศึกษาของเด็กอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยเฉลี่ยนั้นอยู่ที่อันดับ 55 จาก 70 ประเทศ ในขณะที่ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์อยู่ที่อันดับ 54 ความสามารถทางการอ่านอันดับ 57 และความสามารถทางคณิตศาสตร์อยู่อันดับที่ 54 หากเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนที่เข้าร่วมการทดสอบซึ่งมี 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย พบว่าไทยรั้งอันดับที่ 3 ตามคะแนน PISA 2015 เป็นรองทั้งสิงคโปร์ และเวียดนามอย่างชัดเจน (oecd.org : 2015) ชี้ให้เห็นว่า ระบบโรงเรียนไทยไม่สามารถแข่งขันกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียและอาเซียน ประเทศที่เคยล้าหลังไทยก็กลับแซงไปข้างหน้า แล้วประเทศไทยจะแข่งขันได้อย่างไร แม้ในอาเซียนด้วยกัน ถ้าไทยยังไม่รีบยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเร่งด่วน
หากปล่อยเวลาให้เนิ่นนาน ไม่กล้าหาญที่จะสังคายนา การศึกษาทั้งระบบ ความหายนะคงไม่ไกลเกินไปสำหรับประเทศไทย แม้โลกจะก้าวหน้าไปเพียงไร การเรียนการสอนของครูอาจารย์ยังคงเน้นการถ่ายทอดวิชาความรู้เป็นลักษณะสั่งสอน ความรู้ ความจำ เพื่อนำไปสอบในทุกระดับชั้น การส่งเสริมให้ผู้เรียน คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา การฝึกให้ผู้เขียนใฝ่รู้ คุณธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบต่อสังคม การใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา การนำความรู้มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับโลกยุคใหม่ที่กล่าวมานี้ยังด้อยพัฒนานัก ข้อสมมุติฐานที่เคยกล่าวว่า ทุกคนที่มีความรู้เนื้อหาวิชาก็สอนได้นั้นใช้ไม่ได้กับการศึกษาในยุคนี้ ครูอาจารย์ต้องมีทักษะด้านการสอน วิธีสอน รู้หลักจิตวิทยาหลักการสอนและหลักการศึกษาด้วย นอกจากนี้มีประเด็นอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดวิฤกตการศึกษาไทยที่กล่าวได้พอสังเขปคือ 4 วิกฤติการศึกษาไทยที่ต้องแก้ไขโดยทันที
            ประการแรก ปัญหาสังคมผู้สูงอายุเต็มตัว มีโรงเรียน มหาวิทยาลัย คุณภาพต่ำ เกินกว่าจำนวนนักเรียนนักศึกษา ทุกวันนี้ประเทศไทยสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ( Age Society) ตั้งแต่ประมาณปี 2530 กว่า จำนวนการเกิดใหม่ในแต่ละปีของประเทศไทยลดลง จนเหลือประมาณ เจ็ดแสนต่อปี และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ จากที่เคยเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคน จากสาเหตุดังกล่าวผลที่เห็นชัดคือ โรงเรียนทั้งของรัฐบาลและเอกชนจำนวนนักเรียนลดลง เมื่อเด็กเกิดน้อยลง ท้ายที่สุดต้องมีการลดขนาดกระทรวงศึกษาธิการ โดยต้องปิดโรงเรียนลงไปเป็นอันมาก เนื่องจากไม่มีนักเรียนเพียงพอที่จะเข้าจุดคุ้มทุน โรงเรียนแต่ละโรงเรียนมีต้นทนุกคงที่สูงมาก สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการต้องทำคือนำผลการฉายภาพประชากร (Demographic Projection) ของไทยมาใช้ในการวางแผนการปิดโรงเรียนให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด การวางแผนอัตรากำลังพล เช่น จำนวนครู ในแต่ละสาขาและในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับจำนวนเด็กที่ต้องได้รับการศึกษาในอนาคต
ประการที่สอง   ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพ ไม่ใช่ความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึง ทุกวันนี้แทบทุกรัฐบาล ให้ความสำคัญกับการเข้าถึง โดยเน้นไปที่ Education for all เน้นการให้ทุกคนได้เรียนฟรี อย่างน้อยก็ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในส่วนของอุดมศึกษาก็มีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยมีที่ว่างการแข่งขันไม่สูงเหมือนสมัยก่อน แต่ปัญหาที่น่าห่วงคือ ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาไทยผลสอบ PISA ของไทยในวิชาการอ่าน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์พบว่า นักเรียนไทยเกือบร้อยละ 80 มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยทั่วโลก ในขณะที่สิงคโปร์มีเพียงร้อยละ 20-30 สะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพการศึกษาไทยค่อนข้างต่ำมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานโลก
ประการที่สาม การวางแผนการศึกษาของชาติขาดความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติและการเงินการคลังเพื่อการศึกษา ประเทศไทยมีปัญหาค่านิยมบ้ากระดาษและใบปริญญา นักการเมืองแห่กันมาเรียนปริญญาเอก มีปริญญาเอกไร้คุณภาพส่วนใหญ่จบปริญญาเอกในสาขาวิชาที่ไม่ได้มีความจำเป็น ที่มีมากสุดคือสายสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะสาขาวิชาการบริหารการศึกษา และ การบริหารรัฐกิจ สาเหตุที่เราผลิตสังคมศาสตร์มากเกินไปเพราะต้นทุนการผลิตต่ำ ไม่ต้องมีห้องทดลอง เป็นที่นิยมของนักเรียนเพราะจบได้ง่ายกว่า จบได้เร็วกว่า ต้นเหตุของปัญหาประการหนึ่งคือการคลังเพื่อการศึกษาเช่น กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ต้องกำหนดทุนที่ให้กู้ยืมเพื่อสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ เช่น ควรให้กู้ยืมเฉพาะในสาขาที่ขาดแคลน และจบมาแล้วมีงานทำแน่นอนและมีรายได้ดี
การเขียนแผนยุทธศาสตร์ชาติ ต้องให้สอดคล้องกับ 10-20 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยต้องการกำลังคนใน สาขาวิชาจำนวนเท่าใด แล้วมาวิเคราะห์ช่องว่าง เพื่อวางแผนการศึกษาของชาติให้สอดคล้องกัน หากสาขาวิชาใดมีจำนวนมากเกินความจำเป็นก็ต้องชะลอการผลิตลงไป และสาขาวิชาใดที่น่าจะขาดแคลนในอนาคตก็ควรจะวางแผนการศึกษาของชาติให้สอดคล้องกันด้วย
ประการที่สี่ การศึกษาของครูไทยขาดคุณภาพและขาด accountability ที่จะรับผิดชอบการ
พัฒนา นักเรียน ในยุคสมัยหนึ่งมีความจริงที่แสนระคายหูครูไทยก็คือใครที่เรียนอะไรไม่ได้แล้วให้ไปเรียนครู  การได้วัตถุดิบในการผลิตครูคุณภาพแย่นั้นก็นับว่าแย่แล้ว แต่ที่แย่กว่าคือหลักสูตรผลิตครูระดับปริญญาตรี ไปเน้นสอนวิชาครูมากกกว่าวิชาเนื้อหา ถ้าเนื้อหาวิชาไม่แม่นยำ เรียนวิชาครูมาก และสอนได้ดี น่าจะสอนน่าจะสอนสิ่งความรู้ผิดๆ จนนักเรียนจำฝังใจในความรู้ที่ผิดหรือไม่แม่นยำ เพราะสอนได้ดีมาก เช่น ครูคณิตศาสตร์แทบทั้งหมด ไม่เคยเรียนวิชา การวิเคราะห์ถดถอยที่ตรงกับเนื้อหา ความสัมพันธ์เชิงเส้นในชั้นมัธยมปลาย ทำให้ครูหลายคนสอนเนื้อหาเหล่านี้ซึ่งเป็นเนื้อหาบังคับในคณิตศาสตร์พื้นฐานระดับมัธยมปลายอย่างไม่สะดวกใจ เพราะไม่เคยเรียนมาก่อน
นอกจากนี้ระบบประเมินผลงานและการเลื่อนขั้นครูนั้นแม้กำลังได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น จากเดิมที่ต้องทำผลงานวิชาการกันโดยเขียนงานวิจัย กระนั้นก็ตามการประเมินครูต้องดูที่เด็ก ว่าเด็กมีผลการเรียนดีขึ้นหรือไม่ เด็กประสบความสำเร็จดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งระบบที่กล่าวนี้ระบบการศึกษาไทย ไม่ได้เชื่อมโยงกับความดีความชอบของครูเลย ทำให้ครูไม่ต้องมี accountability หรือความสำนึกรับผิดชอบต่อเด็ก แต่หลักการสำคัญในหลายๆ ประการใช้คือ การประเมินผลงานครูต้องดูที่นักเรียนซึ่งเรายังไม่ได้นำมาใช้ (ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ )[1]
ประเด็นดังกล่าว คือ สาเหตุของปัญหาวิกฤติของการศึกษาไทยที่ต้องเร่งแก้ไข เพื่อพัคุณภาพ
คนไทย เข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างสมบูรณ์ การศึกษาเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่จะนำพาสู่ความ สำเร็จ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะบุคลากรทางการศึกษา ที่สำคัญยิ่งคือ ครู ต้องปรับกระบวน การเรียนการสอน ปรับบทบาทของตนเองอย่างจริงจัง ผู้บริหารสถานศึกษาต้องเป็นผู้นำทางวิชาการคู่คุณธรรมและเป็นผู้มีวิสัยทัศน์

ความเป็นมาของการปฏิรูประบบการศึกษาไทย
การจัดการศึกษาของประเทศไทยมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยโบราณเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันด้วย ความเชื่อที่ว่าการศึกษาช่วยกำหนดทิศทางของชาติ เพื่อพัฒนาคนไทยให้มีความพร้อมที่จะเป็นกำลังสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า
ความเป็นมาของการศึกษาไทยมีประวัติที่น่าสนใจแบ่งออกได้ 5 ช่วง ดังนี้ (ประไพ เอกอุ่น. 2542 : 75)
1.การศึกษาของไทยสมัยโบราณ (พ.ศ. 1781 - พ.ศ. 2411)
(1) การศึกษาสมัยกรุงสุโขทัย (พ.ศ. 1781 - พ.ศ. 1921)
(2) การศึกษาสมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893 - พ.ศ. 2310)
(3) การศึกษาสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2311 – พ.ศ. 2411)
2.การศึกษาของไทยสมัยปฏิรูปการศึกษา (พ.ศ. 2412 - พ.ศ. 2474)
3.การศึกษาสมัยปัจจุบัน (พ.ศ. 2535 ปัจจุบัน)
4 การศึกษาในยุค 4.0
การจัดการศึกษาของไทยมีวิวัฒนาการมาโดยตลอด อาจจะเป็นเพราะมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศทำให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงกล่าวคือ ปัจจัยภายในเกิดจากความต้องการพัฒนาสังคมให้มีความเจริญและทันสมัย ส่วนปัจจัยภายนอกเกิดจากกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ตลอดจนการติดต่อสื่อสารกันทำให้ประเทศไทยต้องปรับตัวให้ทันสมัย เพื่อความอยู่รอดและประเทศได้เกิดการพัฒนาให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทำให้การจัดการศึกษาของไทยมีวิวัฒนาการเรื่อยมา ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมความเจริญก้าวหน้าทั้งทาง ด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองของชาติให้มั่นคงและเจริญก้าวหน้า ดังจะได้กล่าวถึงวิวัฒนาการของการศึกษาไทยดังนี้
            1.การศึกษาของไทยสมัยโบราณ ( พ.ศ. 1781 - พ.ศ. 2411)
            การศึกษาสมัยนี้เป็นการศึกษาแบบสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีที่มีมากแต่เดิม จำเป็นที่คนไทยในสมัยนั้นต้องขวนขวายหาความรู้จากผู้รู้ในชุมชนต่าง ๆ ซึ่งการศึกษาในสมัยนี้มีบ้านและวัดเป็นศูนย์กลางของการศึกษา เช่น บ้านเป็นสถานที่อบรมกล่อมเกลาจิตใจของสมาชิกภายในบ้าน โดยมีพ่อและแม่ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดอาชีพและอบรมลูก ๆ วังเป็นสถานที่รวมเอานักปราชญ์สาขาต่างๆ มาเป็นขุนนางรับใช้เบื้องพระยุคลบาท โดยเฉพาะงานช่างศิลปหัตถกรรม เพื่อสร้างพระราชวังและประกอบ พระราชพิธีต่าง ๆ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ส่วนวัดเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พระจะทำหน้าที่ในการอบรมสั่งสอนธรรมะแก่พุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะผู้ชายไทยมีโอกาสได้ศึกษาธรรมะและบวชเรียน ในสังคมไทยจึงนิยมให้ผู้ชายบวชเรียนก่อนแต่งงาน ทำให้มีคุณธรรมและจิตใจมั่นคงสามารถครองเรือนได้อย่างมีความสุข นอกจากนี้ผู้ที่มาบวชเรียนมาแสวงหาความรู้เรื่องธรรมะในวัดแล้ว ยังสามารถแลกเปลี่ยนและถ่าย ทอดความรู้ในด้านศิลปวิทยาการต่าง ๆ ที่เคยได้อบรมจาก ครอบครัวมา จะเห็นได้ว่าสถาบันทั้งสามนี้ล้วนแต่มี บทบาทในการศึกษาอบรมสำหรับคนไทยในสมัยนั้น ในการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง นอกจากนี้ในชุมชนต่าง ๆ ก็มีภูมิปัญญามากมายซึ่งมีปราชญ์แต่ละสาขาวิชา เช่น ด้านการก่อสร้าง หัตถกรรม ศิลปกรรม ประติมากรรม และแพทย์แผนโบราณเป็นต้น ส่วนพระมหากษัตริย์ในสมัยนี้มีพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาในสมัยนั้นและมีอิทธิพลต่อมา กล่าวคือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชและพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระเจ้าลิไท) ซึ่งพระราชกรณียะกิจที่สำคัญ เช่น การประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นครั้งแรก โดยทรงดัดแปลงมาจากตัวหนังสือขอมและมอญ อันเป็นรากฐานด้านอักษรศาสตร์จนนำมาสู่การพัฒนาปรับปรุงเป็นอักษรไทยในปัจจุบัน ศิลาจารึกหลักที่ 1 จึงเป็นศิลาจารึกที่จารึกเป็นอักษรไทยให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสุโขทัยในด้านประวัติศาสตร์ส่วนการบำรุงพุทธศาสนาในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระเจ้าลิไท) ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยนี้

1.1 การศึกษาในสมัยสุโขทัย (พ.ศ. 1781 พ.ศ. 1921) มีลักษณะการจัด ดังนี้
1. รูปแบบการจัดการศึกษา แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย กล่าวคือ ฝ่าย อาณาจักรแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่หนึ่งเป็นการจัดการศึกษาสำหรับผู้ชายที่เป็นทหาร เช่น มวย กระบี่ กระบองและอาวุธต่างๆ ตลอดจนวิธีการบังคับม้า ช้าง ตำราพิชัยยุทธ์ซึ่งเป็นวิชาชั้นสูงของผู้ที่จะเป็นแม่ทัพนายกอง และส่วนที่สอง พลเรือน เป็นการจัดการศึกษาให้แก่พลเรือนผู้ชายเรียนคัมภีร์ไตรเวทโหราศาสตร์ เวชกรรม ฯลฯ ส่วนพลเรือนผู้หญิงให้เรียนวิชาช่างสตรี การปัก การย้อม การเย็บ การถักทอ นอกจากนั้นมีการอบรมบ่มนิสัย กิริยามารยาท การทำอาหารการกินเพื่อเตรียมตัวเป็นแม่บ้านแม่เรือนที่ดีต่อไป ฝ่ายศาสนาจักร เป็นการศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาการจัดการศึกษาในสมัยสุโขทัย จึงเป็นการจัดการศึกษาที่เน้นพระพุทธศาสนาและศิลปศาสตร์
2. สถานศึกษา สำหรับสถานศึกษาในสมัยนี้ ประกอบด้วย บ้าน สำนักสงฆ์ สำนักราชบัณฑิต พระราชสำนัก
3. วิชาที่สอน ไม่ได้กำหนดตายตัว พอแบ่งออกได้ดังนี้ (1) วิชาความรู้สามัญ (2) วิชาชีพ (3) วิชาจริยศึกษา (4) วิชาศิลปะป้องกันตัว
1.2 การศึกษาในสมัยกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 1893 - พ.ศ. 2310) กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นราชธานีอันยาวนาน 417 ปี ซึ่งมีความเจริญทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนับเกิดจากมีชนชาติต่าง ๆ ในเอเชียเข้ามาติดต่อค้าขายและเข้ามาเพื่อตั้งหลักแหล่งหากินในดินแดนไทย เช่น จีน มอญ ญวน เขมร อินเดียและอาหรับ และตั้งแต่รัชสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 ชาติตะวันตกได้เริ่มเข้ามาติดต่อค้าขาย เช่น ชาติโปรตุเกสเข้ามาเป็นชาติแรก และมีชนชาติอื่น ๆ ติดตามมา เช่น ฮอลันดา ฝรั่งเศส อังกฤษ เป็นต้น มีผลให้การศึกษาไทยมีความเจริญขึ้น โดยเฉพาะใน รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองและสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลักษณะการจัดการศึกษาสมัยกรุงศรีอยุธยา มีดังนี้
1. รูปแบบการจัดการศึกษา มีดังนี้
(1) การศึกษาวิชาสามัญ เน้นการอ่าน เขียน เรียนเลข อันเป็นวิชาพื้นฐานสำหรับการประกอบสัมมาอาชีพของคนไทย พระโหราธิบดีได้แต่งแบบเรียนภาษาไทย ชื่อ จินดามณี ถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่งใช้เป็นแบบเรียนสืบมาเป็นเวลานาน (2) การศึกษาทางด้านศาสนา วัดยังมีบทบาทมากในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรม (3) การศึกษาทางด้านภาษาศาสตร์และวรรณคดี ปรากฏว่ามีการสอนทั้งภาษาไทยบาลี สันสกฤต ฝรั่งเศส เขมร พม่า มอญ และภาษาจีน ในรัชสมัยสมเด็จ พระนารายณ์มหาราช (4) การศึกษาของผู้หญิง มีการเรียนวิชาชีพ การเรือนการครัว ทอผ้า ตลอดจนกิริยามารยาท (5) การศึกษาวิชาการด้านทหาร มีการจัดระเบียบการปกครองใน เป็นการศึกษาด้านพลศึกษาสำหรับผู้ชาย ฝึกระเบียบวินัยเพื่อฝึกอบรมให้เป็นกำลังสำคัญของชาติ
2. สถานศึกษา ในสมัยกรุงศรีอยุธยานี้ยังคงเหมือนกับสมัยสุโขทัยที่ต่างออกไป คือ มีโรงเรียนมิชชันนารี เป็นโรงเรียนที่ชาวตะวันตกได้เข้ามาสร้างเพื่อเผยแพร่ศาสนาและขณะ เดียวกันก็สอนวิชาสามัญด้วย
3. เนื้อหาวิชาที่สอน มีสอนทั้งวิชาชีพและวิชาสามัญ กล่าวคือ (1) วิชาสามัญ มีการเรียนวิชาการอ่าน เขียน เลข ใช้แบบเรียนภาษาไทยจินดามณี (2) วิชาชีพเรียนรู้กันในวงศ์ตระกูล สำหรับเด็กผู้ชายได้เรียนวิชาวาดเขียน แกะสลัก และช่างฝีมือต่าง ๆ ที่พระสงฆ์เป็นผู้สอนให้ (3) ด้านอักษรศาสตร์ มีการศึกษาด้านอักษรศาสตร์ มีวรรณคดีหลายเล่มที่เกิดขึ้น (4) วิชาจริยศึกษา เน้นการศึกษาด้านพระพุทธศาสนามากขึ้น (5) วิชาพลศึกษายังคงเหมือนสมัยสุโขทัย

1.3 การศึกษาในสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น (พ.ศ. 2311 พ.ศ. 2411) การศึกษาในสมัยนี้เช่นเดียวกับสมัยอยุธยา บ้านและวัดยังคงมีบทบาทเหมือนเดิม การจัดการศึกษาในช่วงนี้ มีดังนี้
(1) สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นระยะเก็บรวบรวมสรรพตำราจากแหล่งต่าง ๆ ที่รอดพ้นจากการทำลายของพม่า เน้นการทำนุบำรุงตำราทางศาสนา ศิลปะและวรรณคดี
(2) สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงฟื้นฟูการศึกษาด้านอักษรศาสตร์ วรรณคดี มีการแต่งรามเกียรติได้เค้าโครงเรื่องมาจากอินเดียเรื่อง รามายณะ ศิลปะ กฎหมาย เช่น กฎหมายตรา3ดวง และหลักธรรมทางศาสนา มีการสังคายนาพระไตรปิฎก
(3) สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เริ่มมีชาวยุโรปเช่น ชาติโปรตุเกสเข้ามาติดต่อทางการค้ากับไทยใหม่ หลังจากเลิกราไปเมื่อประมาณปลายสมัยอยุธยา และชาติอื่น ๆ ตามเข้ามาอีกมากมาย เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา เป็นต้น เนื่องจากยุโรปมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เปลี่ยนระบบการผลิตจากการใช้มือมาใช้เครื่องจักร พลังงานจากไอน้ำสามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้นจึงต้องหาแหล่งระบายสินค้า ในสมัยนี้ได้ส่งเสริมการศึกษาทั้งวิชาสามัญ โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ จริยศาสตร์ มีการตั้งโรงทานหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ให้การศึกษา
(4) สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงส่งเสริมการศึกษาด้านศาสนาเป็นพิเศษ มีการจารึกวิชาความรู้สามัญและวิชาชีพลงในแผ่นศิลาประดับไว้ตามระเบียงวัดพระเชตุพนจนมีผู้กล่าวว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย มีการใช้หนังสือไทยชื่อ ประถม ก กา และประถมมาลา นับเป็นแบบเรียนเล่มที่ 2 และ 3 ต่อจากจินดามณีของพระโหราธิบดี ต่อมานายแพทย์ ดี บี บรัดเลย์ได้นำกิจการแพทย์สมัยใหม่ เช่น การผ่าตัดเข้ามารักษาคนไข้และการตั้งโรงพิมพ์หนังสือไทยเป็นครั้งแรกในปีพ.ศ. 2379 โดยรับจ้างพิมพ์เอกสารทางราชการเรื่องห้ามสูบฝิ่น จำนวน 9,000 ฉบับ เมื่อปีพ.ศ. 2382
(5) สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยนี้ชาวยุโรป และอเมริกันเริ่มเข้ามาติดต่อค้าขายและสอนศาสนา มีการนำวิทยาการสมัยใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้ในเมืองไทยเพิ่มขึ้น และพระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาจึงทรงจ้างนางแอนนา เอช เลียวโนเวนส์ มาสอนสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เมื่อ พ.ศ. 2405 จนรอบรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี ลักษณะการจัดการศึกษาเป็นแบบเดิมทั้งวัดและบ้าน ในส่วนวิชาชีพและวิชาสามัญ มีอักษรศาสตร์ ธรรมชาติวิทยาหรือวิทยาศาสตร์การศึกษาของไทยสมัยโบราณ (พ.ศ. 1780 - พ.ศ. 2411 ) ยังเน้นการจัดการศึกษาที่วัดและบ้าน โดยมีหลักสูตรเกี่ยวกับการอ่านและเขียนภาษาไทยทั้งในด้านโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน โหราศาสตร์ และไสยศาสตร์จากอาศัยคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา มาจนกระทั่งในสมัยพระนารายณ์มหาราช เริ่มใช้หนังสือจินดามณีเล่มแรก ต่อมามีประถม ก กา และประถมมาลา ส่วนครูผู้สอนได้แก่ พระภิกษุ นักปราชญ์ราชบัณฑิต พ่อแม่ ช่างวิชาชีพต่างๆ สำหรับการวัดผลไม่มีแบบแผนแต่มักจะเน้นความจำและความสามารถในการประกอบอาชีพจึงจะได้รับการยกย่องและได้รับราชการ

2. การศึกษาของไทยสมัยปฏิรูปการศึกษา (พ.ศ. 2412 พ.ศ. 2475)
มุ่งให้คนเข้ารับราชการและมีความรู้ทัดเทียมฝรั่งแต่ไม่ใช่ฝรั่ง (คณะอาจารย์ภาควิชาพื้นฐานการศึกษา. 2532 : 7) แบ่งออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้
2.1 การศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากที่พระองค์ได้ครองราชย์แล้ว ก็ได้ทรงปรับปรุงประเทศให้เจริญรุ่งเรืองในทุกๆ ด้าน ทั้งในด้านการปกครอง การศาล การคมนาคมและสาธารณสุข เป็นต้น ในระยะนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาคือ 1. การจัดตั้งสถานศึกษาปี พ.ศ. 2414 จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เพื่อฝึกคนให้เข้ารับราชการ 2.การบริหารการศึกษาเมื่อจำนวนโรงเรียนเพิ่มมากขึ้นจึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบ การศึกษา เป็นส่วนหนึ่งต่างหาก 3. การจัดแบบเรียนหลักสูตรและการสอบไล่ปี
2.2 การศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี พ.ศ. 2453 ประกาศตั้งโรงเรียนข้าราชการพลเรือนเพื่อฝึกคนเข้ารับราชการตามกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ และต่อมาปี พ.ศ. 2459 ได้ประกาศยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนนี้ ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยปี พ.ศ. 2454 ตั้งกองลูกเสือหรือเสือป่าขึ้นเป็นครั้งแรกโครงการศึกษา พ.ศ. 2456 และฉบับแก้ไข พ.ศ. 2458 โดยมุ่งให้ประชาชนมีความรู้ทางด้านการทำมาหาเลี้ยงชีพตามอัตภาพของตน พยายามที่จะเปลี่ยนค่านิยมของประชาชนไม่ให้มุ่งที่จะเข้ารับราชการอย่างเดียว ปี พ.ศ. 2459 จัดตั้งกองลูกเสือหญิงและอนุกาชาดโรงเรียนกุลสตรีวังหลังและได้จัดตั้งกองลูกเสือหญิงขึ้น เรียกว่า เนตรนารี ปี พ.ศ. 2461 มีการปรับปรุงและขยายฝึกหัดครูขึ้นโดยโอนกลับมาขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเดิมเป็นแผนกหนึ่งของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ปี พ.ศ. 2461 ประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ และ ปี พ.ศ. 2464 ปรับปรุงโครงการศึกษาชาติ โดยวางโครงการศึกษาขึ้นใหม่เพื่อส่งเสริมให้ทำมาหาเลี้ยงชีพ นอกเหนือจากทำราชการ ปี พ.ศ. 2464 ใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาบังคับให้เด็กทุกคนที่มีอายุ 7 ปี บริบูรณ์หรือย่างเข้าปีที่ 8 ให้เรียนอยู่ในโรงเรียนจนถึงอายุ 14 ปีบริบูรณ์หรือย่างเข้าปีที่ 15 โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน และมีการเรียกเก็บเงินศึกษาพลีจากประชาชนคนละ 1- 3 บาทเพื่อนำไปใช้จ่ายในการจัดดำเนินการประถมศึกษา
2.3 การจัดการศึกษาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  วิวัฒนาการการจัดการศึกษาในสมัยนี้ มีดังนี้
(1) ปี พ.ศ. 2469 เปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการอย่างเดิม
(2) ปี พ.ศ. 2473 ยกเลิกการเก็บเงินศึกษาพลีคนละ 1 - 3บาท จากผู้ชายทุกคนที่มีอายุระหว่าง 16 - 60 ปี โดยใช้เงินจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอุดหนุนการศึกษาแทน
(3) ปี พ.ศ. 2474 ปรับปรุงกระทรวงธรรมการเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศ โดยยุบกรมสามัญศึกษาในตอนนั้น กระทรวงธรรมการจึงมีหน่วยงานเพียง 3 หน่วยคือ กองบัญชาการ กองตรวจการศึกษากรุงเทพ ฯ และกองสุขาภิบาลโรงเรียน
(4) ยกเลิกระเบียบว่าด้วยการควบคุมแบบเรียน

3. การศึกษาสมัยการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ (พ.ศ. 2475 ปัจจุบัน)
นโยบายการจัดการศึกษาของคณะราษฎร์ ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญา สิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎร์ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันเปลี่ยน แปลงการปกครอง ได้วางเป้าหมายสำคัญหรืออุดมการณ์ของคณะราษฎร์มีปรากฏอยู่ในหลัก 6 ประการ ข้อที่ 6 จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร เพราะคณะราษฎร์มีความเห็นว่า การที่จะให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตย จำเป็นต้องจัดการศึกษาให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง เมื่อประชาชนมีการศึกษาดีย่อมจะทำให้ประเทศชาติเจริญขึ้นด้วย ดังจะเห็นได้จากคำแถลงนโยบายของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา  พ.ศ. 2475 กล่าวไว้ว่า การจัดการศึกษาเพื่อจะให้พลเมืองได้มีการศึกษาโดยแพร่หลาย ก็จะต้องอนุโลมตามระเบียบการปกครองที่ให้เข้าลักษณะเกี่ยวกับแผนเศรษฐกิจแห่งชาติหลักสูตรของโรงเรียน และมหาวิทยาลัยจะต้องขยายให้สูงขึ้นเท่าเทียมอารยประเทศ ในการนี้จะต้องเทียบหลักสูตรของนานาประเทศ หลักสูตรใดสูงถือตามหลักสูตรนั้นๆ รัฐบาลชุดต่อๆ มาก็ได้พยายามที่จะได้จัดการศึกษาให้ทั่วถึงในหมู่ประชาชนทั่วไป ถ้าวิเคราะห์ดูจากคำแถลงนโยบายของรัฐบาลพบว่า ได้ตั้งความหวังเรื่องการศึกษาไว้สูงเกินไปจะให้เท่าเทียมอารยประเทศ ซึ่งสภาวการณ์ในประเทศขณะนั้นยังไม่มีความพร้อม โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศในขณะนั้น เป็นผลให้เกิดปัญหาในการจัดการศึกษานับแต่นั้นเป็นต้นมา  
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้มีแผนการศึกษาชาติพ.ศ. 2475 แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2479 แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2494 และแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2503 ซึ่งแผนการศึกษาดังกล่าวระบุแนวทางการจัดการศึกษา ปรัชญาและจุดมุ่งหมายของการศึกษาแต่ละระดับโดยส่วนรวม กำหนดโครงสร้างของการศึกษา คือ กำหนดระดับการศึกษา กำหนดรายอายุผู้ที่จะเข้าเรียนในระดับต่างๆ กำหนดชั้นเรียนและกำหนดความเกี่ยวเนื่องระหว่างระดับการศึกษา (เจือจันทร์ จงสถิตอยู่. 2529 : 49) โดยทั่วๆ ไปมีระดับการศึกษาภาคบังคับหรือระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา หรือที่เรียกว่าระดับ 2 และระดับอุดมศึกษาเป็นการศึกษาระดับที่ 3 หลักสูตรการจัดการเรียนการสอน ทฤษฎีที่ใช้ในการเรียนการสอนของไทยยังนำเอาความรู้วิชาการ การจัดการเรียนการสอนตลอดถึงรูปแบบของการจัดการศึกษามาจากประเทศตะวันตกจวบจนถึงปัจจุบัน แม้จะมีการปรับปรุงหลักสูตรกี่ครั้งก็ตาม

การปฏิรูปการศึกษาไทยยุคปัจจุบัน          
            จากความเป็นมาของระบบการศึกษาไทยที่มีการปรับเปลี่ยนปฏิรูปตามลำดับ ณ ปัจจุบันการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยในยุคปัจจุบัน  เกิดจากปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลกระทบจนทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาอันเนื่องมาจากสาเหตุหลายประการดังนี้                
1.1  กระแสโลกาภิวัตน์  ในกระแสโลกาภิวัตน์ ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยได้ก้าว ไปสู่ระบบเทคโนโลยี  มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติได้  ภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงของตลาดโลกด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ทำให้หลายฝ่ายได้หันมาสนใจในการพัฒนาคุณภาพแรงงานภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย  เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถและทักษะอย่างเพียงพอ ในการใช้และควบคุมเทคโนโลยีในการผลิตได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ระบบการศึกษาไทยจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ โดยผลิตบุคลากรให้มีคุณภาพที่สนองความต้องการและความพึงพอใจของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศทำให้โลกเต็ม ไปด้วยข่าวสารข้อมูลที่มีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว  บุคคลที่มีสื่อต่าง ๆ อยู่ในครอบครองจะสามารถรับรู้และสัมผัสข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็ว และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้มากกว่าบุคคลอื่นๆ ที่ไม่มีโอกาสในการใช้บริการของเทคโนโลยีสารสนเทศมีความแตกต่างกัน อันเนื่องมาจากเหตุผลหรือข้อ จำกัดต่าง ๆ เช่น ความยากจน  อยู่ในพื้นที่ห่างไกล   ช่องว่างของการรับรู้   ข้อมูลข่าวสารจะเกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่เทคโนโลยีสารสนเทศขับเคลื่อนไปถึง   ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปมากจากอิทธิพลของกระแสโลกาภิวัตน์   คนไทยมีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารได้กว้างขวางขึ้นและในทางสร้างสรรค์ เทคโนโลยีสารสนเทศได้นำเสนอโอกาส และทางเลือกให้บุคคลได้เรียนรู้จากหลายช่องทางและหลายรูปแบบ  ทำให้การเรียนรู้สามารถยืดหยุ่นทั้งเวลาและสถานที่   ตลอดจนสามารถเรียนรู้  และรับรู้ข้อมูลได้อย่างต่อเนื่องตามความสนใจของตนเอง   และในอนาคตบุคคลจะแสวงหาแนวทางและค้นหาความรู้ได้ด้วยตนเอง การเรียนรู้จะเกิดจากการจัดการศึกษาในสถานศึกษาโดยเรียนผ่านสื่อเทคโนโลยีทางการศึกษาที่จะมีการนำเสนอความรู้หลากหลาย  และเรียนจากเหตุการณ์จริงในสังคม   ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และสร้างรูปแบบการเรียนรู้ของตนเอง  การแสวงหาความรู้จะเกิดจาก ความพึงพอใจเป็นการเรียนรู้เพื่อสั่งสมประสบการณ์และเพื่อการศึกษาหาความรู้ตลอดชีวิตผลกระทบ เหล่านี้ทำให้จำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษา   โดยเฉพาะด้านการเรียนการสอนในแนวใหม่ที่สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์   ผู้เรียนสามารถเรียนรู้โดยวิธีใดก็ได้   จะต้องมีความหลากหลายและยืดหยุ่น  แต่มีการเทียบมาตรฐานและรับรองคุณภาพให้อย่างเป็นระบบ    เนื่องจากกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่าง รวดเร็วของสังคมยุคโลกาภิวัตน์   การศึกษายุคใหม่จะต้องพัฒนาคนให้มีความสามารถใช้ข้อมูลข่าว สารเป็น   โดยสามารถนำมาพัฒนาเป็นกระบวนการเรียนรู้ของตนเองได้  การศึกษาต้องเตรียมคนให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ สามารถควบคุมภาวะวิกฤตเศรษฐกิจได้  การศึกษาจะต้องมีเป้าหมายหลักในการสร้างบุคคลแห่งการเรียนรู้  เพื่อก่อให้เกิดองค์กรและสังคมแห่งการเรียน รู้ที่จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาและยกระดับการศึกษาของประเทศให้สามารถเข้าสู่การแข่งขันกับนานาชาติได้
1.2  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.  2540  และพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545. ปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งที่จะส่งผลให้จำเป็น  ต้องมีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ  รวมทั้งการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยก็คือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540   และพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.  2540  พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้ระบุไว้ในมาตรา  12  ว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในวิชาการ  การศึกษาอบรม การเรียนการสอนย่อมได้รับความคุ้มครองเท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และในมาตรา 43 ระบุว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย  การจัดการศึกษาอบรมของรัฐต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ   การจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพและเอกชนภายใต้การกำกับดูแลของรัฐย่อมได้รับความคุ้มครองทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ     นอกจากนี้ในมาตรา  81  ระบุให้รัฐต้องจัดการศึกษา  อบรม  และสนับสนุนให้จัดการศึกษาอบรมให้เกิดความรู้คู่คุณธรรม  ปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม  สร้างเสริมความรู้และปลุกจิตสำนึกที่ถูกต้อง  พัฒนาวิชาชีพครูและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นศิลปและวัฒนธรรมของชาติเป็นต้นซึ่งความในรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้สะท้อนออกมาในรายละเอียดตามกฎหมาการศึกษา ที่ได้ออกมาภายหลัง  คือพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545 พระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545  เป็นกฎหมายหลักทางด้านการศึกษาฉบับแรกของประเทศไทย ที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลอย่างกว้างขวาง  เพื่อกำหนดเนื้อหาสาระต่าง ๆ  เกี่ยวกับการจัดการศึกษาของประเทศ  ซึ่งส่งผลกระทบสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาของชาติอย่างมาก   นับตั้งแต่การกำหนดความมุ่งหมายของการศึกษา   ที่เน้นการพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย  จิตใจ   สติปัญญา   ความรู้ และคุณธรรม  (มาตรา  6)  การจัดการศึกษาโดยยึดหลักการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน  ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา (มาตรา 8) การกำหนดสิทธิและหน้าที่ทางการศึกษาของบุคคล บิดามารดา  ครอบครัว  ชุมชน  องค์กรรัฐ  องค์กรเอกชน   สถาบันต่างๆ ทางสังคม  (มาตรา 10มาตรา 14)  การกำหนดระบบการศึกษา   ซึ่งระบุไว้ว่ามี  3  รูปแบบ  คือการศึกษาในระบบและนอกระบบการศึกษา  และการศึกษาตามอัธยาศัย โดยให้มีการผสมผสานและการเทียบโอนผลการเรียนระหว่างรูปแบบเดียวกัน และต่างรูปแบบกันได้  (มาตรา  15)  การกำหนดการบริหารและการจัดการศึกษาของรัฐ  ซึ่งมุ่งเน้นความเป็นเอกภาพ   ประสิทธิภาพ  และการกระจายอำนาจ  (มาตรา  31มาตรา  40) การกำหนดสิทธิในการจัดการศึกษาขององค์กรท้องถิ่น (มาตรา 41)  การบริหารและการจัดการศึกษาเอกชน ซึ่งมุ่งเน้นความเป็นอิสระ โดยมีการกำกับ ติดตาม ประเมินคุณภาพและมาตรฐานของรัฐ (มาตรา 43)  การกำหนดมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่องและชัดเจน(มาตรา 47มาตรา 51) การพัฒนาครูอาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา (มาตรา 58มาตรา 68) เหล่านี้เป็นต้น  สำหรับในเรื่องของการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีนั้น ในมาตรา  23  ก็ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องเป็นความสำคัญทั้งความรู้  คุณธรรม  กระบวนการเรียนรู้และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา ในเรื่องของความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   รวมทั้งความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์เรื่องของการจัดการ   การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน    บทบัญญัติพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545 จึงเป็น แรงผลัก ดันสำคัญที่ทำให้มีความจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการจัดการศึกษาขนานใหญ่หรือต้องมีการปรับ  ระบบการศึกษาใหม่  ซึ่งทำให้มีความจำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการจัดการศึกษาไทยซึ่งรวมถึงการปฏิรูปการจัดการศึกษาวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์   และเทคโนโลยีด้วย จะเห็นได้ว่าในการปฏิรูปการศึกษาตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ ดังกล่าว สภาพการณ์ทางด้านระบบบริหารและการจัดการจะเปลี่ยนไปมาก ตัวอย่างเช่น มีการกระจายอำนาจทั้งในด้านบริหารและด้านวิชาการลงสู่ระดับพื้นที่ โดยชุมชน ประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเข้ามามีบทบาทในการบริหารและการจัดการศึกษาในพื้นที่ของตนอย่างมาก   ประชาชนจะเข้ามามีส่วนในการร่วมคิด  ร่วมวางแผน  ร่วมทำ และร่วมติดตามประเมินผลการจัดการ ศึกษาในท้องถิ่น ในส่วนของหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน  จะต้องมีลักษณะที่ตอบสนอง ต่อความต้องการของผู้เรียนที่หลากหลายมีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความแตกต่างขอท้องถิ่น   เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจากสภาพแวดล้อมในชุมชนและสังคมที่เป็นจริงโดยเน้นการปฏิบัติ   ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลไปถึงเรื่องของการวัดและประเมินผลด้วย สำหรับสถานศึกษาจะมีบทบาทในการจัดการศึกษาแบบเบ็ดเสร็จ (School Based  Management)  จึงต้องการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีความรู้ความสามารถ  ทักษะและประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนและการถ่ายทอดความรู้  ผู้บริหารสถานศึกษาต้องมีความรู้ความสามารถในการบริหาร งานและการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ องค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้การจัดการศึกษาเปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกโฉมหน้า

ระบบการศึกษาในยุค 4.0
คือ การจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้เรียน ที่เปลี่ยนไปการประยุกต์ใช้เทคโน โลยีสมัยใหม่ เป็นเครื่องกระตุ้นการเรียนรู้ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสร้างสรรค์นวัตกรรมและการวิจัยด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศ เส้นทางสู่การศึกษาไทย 4.0 เพื่อให้ก้าวไปสู่การศึกษาไทย 4.0 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดส่งเสริมสนับสนุนโครงการสำคัญ ได้แก่ ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ การยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษ พัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนานักวิจัยหลากหลายสาขาการจัดการเรียนการสอน STEM การศึกษา ความร่วมมือ "สานพลังประชารัฐ"

ทิศทางแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 ประกอบด้วยจุดมุ่งหมาย 3 ประการ ได้แก่
            1.คนไทยเป็นพลเมืองดี มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และสมรรถนะที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี และยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 
            2.สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณธรรม จริยธรรม รู้รักสามัคคี และร่วมมือผนึกกำลังมุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
            3.ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางและความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ ลดลง โดยขับเคลื่อนภายใต้ 7 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
            1.การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานหลักสูตร การเรียนการสอน กระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล
            2.การยกระดับคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
            3.การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัยและนวัตกรรมรองรับความต้องการของตลาดงานและ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
            4.การพัฒนาระบบข้อมูล สารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิตอล
            5.การพัฒนาคุณภาพของคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้
            6.การพัฒนาระบบบริหารจัดการและการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของทุกภาคส่วน 
            7.การพัฒนาระบบการเงินเพื่อการศึกษา

การพัฒนาการศึกษาไทยในยุค Thailand 4.0 ว่า นอกจากการให้ความรู้ด้านวิชาการแล้ว ยังจำเป็นต้องปลูกฝังให้เด็กมีคุณธรรม รักเรียน และอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ โดยสาระสำคัญของการศึกษาในยุค Thailand 4.0 พอสรุปได้ดังนี้
1.เน้นการพัฒนาทักษะในการคิดวิเคราะห์ โดยไม่ได้เป็นการเพิ่มรายวิชาการคิดวิเคราะห์ขึ้น มาใหม่ แต่เป็นการปลูกฝังให้เด็กสามารถคิดวิเคราะห์จากวิชาหลักที่เรียนในชั้นเรียนได้ เพื่อให้เด็กเข้าใจในวิชาเรียนอย่างลึกซึ้ง
2.เน้นการพัฒนาทักษะในด้านภาษาอังกฤษภาษาอังกฤษเป็นหัวใจสำคัญในการติดต่อสื่อสารกับนานาประเทศ ฉะนั้นจึงได้มีการพัฒนาครูผู้สอนภาษาอังกฤษผ่านกระบวนการ Boot Camp,รวมไปถึงการจัดทำแอพพลิเคชั่นด้านภาษา เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการด้านภาษาที่ดีขึ้น
3.เน้นการพัฒนาทักษะวิชาคณิตศาสตร์และวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งสองวิชานี้เป็นวิชาที่จะนำไป สู่การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ โดยเน้นการพัฒนาให้เด็กสามารถเรียนรู้และประสานวิชาคำนวณและเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการคิด สร้างสรรค์นวัตกรรมออกมาเป็นของตนเอง โดยไม่ต้องพึงต่างชาติอีกต่อไป
4.ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ มีการที่จะปรับเปลี่ยนหลักสูตรใหม่เพื่อที่จะนำมา ใช้ในปี 2561 และอาจจะมีการเพิ่มวิชาเรียนใหม่ๆขึ้นมาด้วย หรือนำวิชาเก่าๆมาสอนใหม่ด้วยเช่นกัน
5.ปรับปรุงตำราเรียนให้มีมาตรฐาน 5 ดาวมีการสร้างตำราเรียนขึ้นมาให้เพื่อให้สะดวกในการเรียนมากยิ่งขึ้น และจะมีการเพิ่มแบบฝึกหัดและมีลิ๊งค์เชื่อมโยงแบบออนไลน์เพื่อนให้นักเรียนสะดวกในการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม
6.การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก คือการที่กระทรวงศึกษาธิการนั้นพยายามยกระดับ โรงเรียนขนาดเล็กโดยการให้เด็กนั้นไปเรียนโรงเรียนที่มีความพร้อมมากกว่า(moe.go.th)

            อย่างไรก็ตามในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เจริญรุดหน้าอย่างแข็งแกร่งพร้อม ในการแข็งขันกับนานาประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาลปัจจุบัน จำเป็นต้องพัฒนาทุกภาคส่วนไปพร้อมๆ กันตามแนวคิด ไทยแลนด์ 4.0 ไม่ว่าจะภาคเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ในการขับเคลื่อนยุทธยุทธศาสตร์ด้านการศึกษานั้น ปัจจัยสำคัญที่ถือเป็นกลไกในการขับเคลื่อนองคาพยพของภารกิจต่างๆ ของภาครัฐให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลนั้นก็คือ ทรัพยากรมนุษย์ คนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนานั้นคือ คนเป็นตัวตั้งของการพัฒนาทั้งหลาย  คนที่ได้รับการพัฒนาดีแล้วจะบรรลุถึงสภาวะที่เรียกว่ามนุษย์ที่สมบูรณ์ เมื่อคนชนิดนั้นไปอยู่จุดใดของสังคม เขาจะมีส่วนให้จุดนั้นพัฒนาไปด้วย กล่าวคือมนุษย์ที่สมบูรณ์จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ศาสนา และวัฒนธรรมต่อไป ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้มีแนวคิดในการนำเอาหลักไตรสิกขาในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาไปใช้ดำเนินการจัดการศึกษาในรูปแบบโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ ซึ่งหมายถึงโรงเรียนระบบปกติทั่วไปแต่เน้นการนำหลักธรรมของพระพุทธศาสนา มาประยุกต์ใช้ในการบริหารและพัฒนาผู้เรียนโดยรวมของสถานศึกษา เน้นกรอบพัฒนาตามหลักไตรสิกขาอย่างบูรณาการ เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และพัฒนาชีวิตโดยผ่านกระบวนการทางวัฒนธรรม แสวงหาปัญญาและมีเมตตาเป็นฐานในการดำเนินชีวิต โรงเรียนวิถีพุทธจึงเป็นโรงเรียนที่นำวิถีวัฒนธรรมของชาวไทยส่วนใหญ่แต่เดิมมาใช้ โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเข้าใจชีวิตอย่างแท้จริงและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องเหมาะสมโดยอาศัยระบบการศึกษาตามหลักไตรสิกขามาใช้ในการฝึกอบรมให้ครอบคลุมการดำเนินชีวิตทุกด้าน หลักการนำรูปแบบไตรสิกขาไปใช้ในการบริหารการศึกษาหลักการจัดดังต่อไปนี้
1. สร้างปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ[2] คือ ทรัพยากรทางการบริหารทุกๆ ด้าน เช่น ระบบบริหาร อาคารและสถานที่ หลักสูตร สื่อและแหล่งการเรียนรู้ อุปกรณ์การศึกษา สาธารณูปโภคพื้นฐานและสวัสดิการ บุคลากรและผู้เกี่ยวข้อง งบประมาณ เป็นต้น ให้มีความพร้อมทีจะใช้การได้อย่างเต็มศักยภาพในทุกด้าน พร้อมทั้งทำความเข้าในกระบวนการดำเนินงานในทุกขั้นตอนอย่างถูกต้องจนเกิดเป็นสัมมาทิฏฐิ คือ เป็นความเห็นที่ถูกต้อง
2. กระบวนการฝึกตามหลักของไตรสิกขา คือ การเรียนการสอนโดยใช้ไตรสิกขา การสร้างบรรยากาศและปฏิสัมพันธ์ที่เป็นกัลยาณมิตร มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
3.วัดและประเมินผลการใช้ไตรสิกขาในการบริหารจัดการศึกษา คือ
 1) ผลที่เกิดกับตัวผู้เรียน เช่น ผู้เรียนได้มีการพัฒนาทางด้านกาย ทางด้านศีล ทางด้านจิตใจ ทางด้านปัญญามากน้อยเพียงใด
2)   ผลที่เกิดขึ้นกับชุมชน เช่น โรงเรียนได้รับความไว้วางใจ เชื่อมั่น ศรัทธา และได้รับ
ความร่วมมือจากชุมชนวัดในชุมชนได้ศาสนทายาท เป็นกำลังส่งเสริมพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้น  ครอบครัว ในชุมมีสมาชิกที่เป็นคนดีไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขไว้ช่วยเหลือครอบครัว และช่วยในการพัฒนาชุมชนเพิ่มมากขึ้น 

  
บรรณานุกรม

http://www.ispacethailand.org/สังคม/10448.html
http://www.moe.go.th/moe/th/home/มีความ




[1] อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์สาขาวิชา Business Analytics and Intelligenceสาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยงคณะสถิติประยุกต์ ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

[2] พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๒ สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สัมมาทิฏฐิสูตร
ม.มู. 12/100/63

ความคิดเห็น

  1. Set a budget: no matter what type of  Slotxo เว็บตรง online game you choose to play, you should always have a predetermined bankroll. This is a certain amount of money that you are willing to part with when playing สล็อตออนไลน์ your favourite online slots.

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อัตลักษณ์เยาวชนไทยในยุคศตวรรษที่ 21