อัตลักษณ์เยาวชนไทยในยุคศตวรรษที่ 21



อัตลักษณ์เยาวชนไทยในยุคศตวรรษที่ 21

บทนำ
ปัจจุบันสังคมโลกและสังคมไทย กำลังก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 (คริสต์สหัสวรรษที่ 3 และเป็นคริสต์ศตวรรษปัจจุบันเริ่มนับตั้งแต่แต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2001 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.2100 หรือ พุทธศักราช  2544 ถึง 2643 ) ซึ่งเป็นยุคที่มีความสลับซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา บทบาทของเยาวชนยุคใหม่ที่เป็นอนาคตของชาติจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน มีทั้งด้านลบและด้านบวกที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตในโลกปัจจุบันจากสภาพการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้นึกย้อนกลับไปถึงเด็กไทยในอดีตหรือค่านิยมของคนไทยในอดีตที่มีลักษณะ สุภาพอ่อนน้อมมีคำว่า “ไม่เป็นไร” เป็นคำพูดติดปาก เด็กๆจะได้รับการอบรมสั่งสอนให้รู้จักอดทนและรอคอย ให้รู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ไม่ชิงสุกก่อนห่าม วิถีชีวิตเรียบง่าย ได้รับการสืบทอดวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีค่านิยม ตามบรรพบุรุษ พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป สังคมมีการเปลี่ยนแปลงการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ยุคปัจจุบัน มักกลัวลูกลำบาก ไม่สอนให้รู้จักอดทน รอคอย จึงขวนขวายหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้บุตรหลานใช้ของดีราคาแพง เพื่อไม่ให้น้อยหน้าคนอื่น ค่านิยมเหล่านี้ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับสังคมเมืองเท่านั้น สังคมชนบทก็เป็นเฉกเช่นเดียวกัน จากสภาพดังกล่าวประกอบกับโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สื่อเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เด็กในยุคปัจจุบันจึงนิยม ความรวดเร็ว ทันใจ ในทุกเรื่องทั้งการติดต่อสื่อสารหรือการหาข้อมูลต่าง ๆ กลายเป็นเยาวชนยุคสำเร็จรูป เนื่องจากมีการรับเอาอารยธรรมต่างประเทศมากขึ้น การยึดมั่นขนมธรรมเนียมประเพณี ได้รับความสำคัญน้อยลง จะตื่นตัวให้ความสำคัญของวัน วันวาเลนไทน์ เคาต์ดาวน์ในช่วงปีใหม่ ฯลฯ ช่องว่างระหว่างวัยสูงขึ้น เด็กยุคใหม่จะให้ความเคารพผู้ใหญ่น้อยลง ระบบอาวุโส ขาดหายไปจากสังคม ด้วยเหตุที่มองว่าผู้ใหญ่มีความล้าหลัง ไม่ทันสมัย ไม่ทันโลกที่เปลี่ยนแปลง การที่เด็กรู้อะไรมากกว่าผู้ใหญ่ หรือสามารถประสบผลสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยเป็นการสร้างค่านิยมแบบก้าวกระโดด เช่น ให้เด็กเติบโตสู่ ตำแหน่งผู้บริหารมาปกครองผู้ใหญ่เป็นต้น

เมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เป็นที่สนใจของนักคิดแขนงต่าง ๆ มากมาย ทั้งในสายตาชาวโลกและชาวไทย ที่เริ่มตะหนักถึงสังคมของมนุษยชาติในอนาคต เรียกสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้แตกต่างกันไป อัลวิน ทอฟเฟอร์ ( Alvin Toffer, 2538) เรียกยุคคลื่นที่ 3 ( The Third Wave ) โดยมองการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีลักษณะ “ทั้งโลก”(Global) ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ฯลฯ  โดยมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ทันสมัยเป็นตัวขับเคลื่อน นอกจากนั้นยังถูกเรียกยุคนี้ในชื่อที่ต่าง ๆ กัน เช่น “ยุคดิจิตัลเปลี่ยนโลก” ( The new Digital Age ) “ ยุคโลกไร้พรมแดน” ( Borderlessworld ) “ยุคโลกาภิวัฒน์” (Globalization) นอกจากนี้มีแนวความคิดที่น่าสนใจของ เจมส์ มาร์ติน ( James Martin, 2553) ซึ่งปรากฏอยู่นหนังสือของเขาที่ชื่อว่า “โลกแห่งศตวรรษที่ 21” ( The Meaning of the 21 Century ) เจมส์เสนอแนวคิว่า จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งค่อนข้างจะเป็นทางลบ แต่เขามีเจตนาที่จะกระตุ้นให้สังคมตะหนักและหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้้น ( ประเวศ วะสี, 2545 ) เห็นว่า วิถีชีวิตของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 จะมีปัญหามากขึ้น อันเนื่องมาจากกิเลส และอวิชชา ที่จะต้องอาศัยหลักธรรมทางพุทธศาสนามาแก้ไขปัญหา มนุษย์จะต้องเปลี่ยนไปสู่ภาวะหรือภพภูมิที่สูงกว่า เหล่านี้คือความกังวลใจที่นักสังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตุขึ้น

กระแสคุกคามของโลกานุวัตรดังกล่าวสอดรับกับที่ อานันท์ กาญจนพันธุ์ (2544:19) ได้ให้นิยามความหมายของโลกานุวัตรไว้ว่า โลกานุวัตรคือ "พัฒนาการขั้นสุดท้ายของทุนนิยมที่เปลี่ยนสิ่งต่างๆให้เป็นสื่อของการซื้อขายแลกเปลี่ยน จากเดิมที่เป็นทรัพยากร แรงงาน มาตักตวงเอาแม้กระทั่งวัฒนธรรมความรู้สึกคุณค่าและจิตใจของผู้คนให้เป็นสินค้าไปด้วย" ยกตัวอย่างได้จากงานของ Helena Norberg - Hodge (2545) ที่ชี้ให้เห็นว่า การเข้ามาของกระแสโลกานุวัตรและการส่งเสริมเรื่องระดับโลก ต้องแลกมาด้วยความสูญเสียของวัฒนธรรมท้องถิ่น Helena เล่าว่า เมื่อ ลาดัก หรือ "ธิเบตน้อย" เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและเริ่มต้นกระบวนการ "พัฒนา" ในปี คศ. 1975 ขึ้น จินตภาพของความก้าวหน้าและความทันสมัยของ วัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกาถูกส่งผ่านสื่อมาอย่างมาก มายปฏิบัติการสร้างภาพของวัฒนธรรมโลกานุวัตรก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ปมด้อยทางวัฒนธรรม" ต่อเยาวชนหนุ่มสาวชาวลาดัก โดยเฉพาะวัยรุ่นชายที่เกิดความรู้สึกอับอายในรากเหง้าวัฒนธรรมของตน รู้สึกอายในความเป็น ตัวเอง และภาษาที่ตัวเองพูด แต่ทว่ากระตือรือล้นที่จะรับวัฒนธรรมอเมริกันเข้ามาแทนที่ เพราะเห็นว่ามันคือสัญลักษณ์ของชีวิตทันสมัย

ในขณะที่ทำให้เยาวชนปฏิเสธวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองทั้งหมดพร้อมๆกันนั้น กระแสโลกานุวัตรและกระบวน การทำให้ทันสมัย (modernization) ได้ทำให้สายใยแห่งการพึ่งพากันของชุมชนคลายตัวลง ระยะห่างระหว่างผู้คนเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกันกับการลดระดับของความอดกลั้นและความร่วมมือที่มีอยู่เดิม การวิวาทด่าทอและทะเลาะกันอย่างดุเดือดของผู้คนในชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ชาวลาดักแยกตัวออกจากกัน เฉยเมยต่อกัน ความผูกพันในครอบครัวและในชุมชนขาดสะบั้นลงอย่างสิ้นเชิง และหากย้อนกลับมามองประเทศไทย เราจะพบว่าการเข้ามาของโลกานุวัตรและแนว นโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้ทันสมัยในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดผลแก่ประเทศในสองด้าน ในด้านหนึ่งนั้นเป็นผลสำเร็จของการพัฒนาก็คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในอัตราสูง รายได้เฉลี่ยต่อคนเพิ่มสูงขึ้น สัดส่วนของประชากรยากจนลดลงและฐานะการเงินการคลังของประเทศ มีความมั่นคง

แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้นผลในทางกลับกันที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาก็คือความแตกต่างของ รายได้ของคนในประเทศ ไทยมีมากยิ่งขึ้น เกิดความเหลื่อมล้ำของสังคมในหลายๆด้าน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลง สังคมสับสนและมีความเป็นวัตถุนิยมมากขึ้น คุณภาพชีวิตถดถอย ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีนำเข้าและสินค้าประเภททุนจากต่างประเทศ ระบบการศึกษากลายเป็นแบบรวมศูนย์ที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น ความสัมพันธ์ทางสังคม แตกสลาย ต่างคนต่างอยู่ ค่านิยมไทยกลายเป็นแบบตัวใครตัวมัน เยาวชนสมัยใหม่เริ่มไม่สนใจศาสนา ฯลฯ (ภมรรัตน์ สุธรรม, 2546) มีงานบางชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า จากการหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตกที่เรียบง่ายและไม่ซับซ้อน ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ซับซ้อน ลึกซึ้งและเข้าใจได้ยาก จึงส่งผลให้เกิดการละเลยและปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยมุ่งความทันสมัย ไม่คำนึงถึงรากฐานประเพณีดั้งเดิม เช่นงานของ นิเทศ ติณณะกุล (2544) ที่พบว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมส่งผลต่อประเพณีที่เคยปฏิบัติมาในอดีต แม้ว่ารูปแบบของประเพณีดังกล่าวจะยังคงได้รับการรักษาไว้เช่น เดิม แต่วัตถุประสงค์จะเปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม แม้โลกจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด ความหวังของสังคมอยู่ที่เด็กยุคใหม่ เยาวชนยุคใหม่ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศชาตไปสู่อนาคตข้างหน้า สำหรับเยาวชนไทยย่อมเป็นความหวังของประเทศไทยเช่นเดียวกัน ท่ามกลางกระแสสังคมยุคใหม่ที่ถาโถมเข้าใส่สังคมไทยรอบด้านนี้ เยาวชนไทยต้องมีการปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลง จากความคาดหวังของสังคมไทยหรือผู้ใหญ่ซึ่งมักกำหนดกรอบแนวทางให้กับเยาวชน ซึ่งเกิดการต่อต้านมาทุกยุคสมัย โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันยิ่งทวีความรุนแรง จนยากที่จะต้านทาน เกิดปัญหาเกี่ยวกับเยาวชนมากมาย ความเป็นอัตลักษณ์ของเยาวชนไทยในยุคศตวรรษที่ 21 จะเป็นไปในทิศทางใดที่จะทำให้เยาวชนไทยได้ปรับตัว พัฒนาตนเองให้เข้ากับยุคสมัย มีทักษะการใช้ชีวิต สามารถนำความรู้มาแก้ปัญหา คิดวิเคราะห์ มีภาวะผู้นำในตนเอง สามารถทำงานเป็นทีมได้ มีทักษะในการสื่อสารเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อการพัฒนา มีความเสียสละรับผิดชอบต่อสังคม มีความชื่อสัตย์ มีคุณธรรมจริยธรรม สิ่งกล่าวมานี้ เป็นความคาดหวังต่อภาพอัตลักษณ์เยาวชนไทยของผู้ใหญ่และสังคมไทย สังคมจะร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันอย่างไรกับเยาวชน ต่อกระแสแห่งยุคศตวรรษที่ 21 ที่แทรกซึม คืบคลาน เข้ามาทุกย่อมหญ้าหากไม่เริ่มตะหนักถึงกระแสดังกล่าวเสียแต่ต้น เกรงว่าอัตลักษณ์ความเป็นเยาวชนไทยจะสูญสิ้นในยุคศตวรรษที่ 21 นี้



แนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ 
อัตลักษณ์ในนิยามศัพท์ของคำในภาษาอังกฤษ คำว่า Identification แปลว่าการกำหนดเอกลักษณ์ หมายถึง กระบวนการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งนิยามตนเองหรือเอกลักษณ์ของตนโดยถือบุคคลอื่นหรือสื่งอื่นนอกจากตัวเองเป็นหลัก เช่น คนที่เจ็บแทนเพื่อนหรือหมู่คณะได้ชื่อว่าถือเพื่อนหรือหมู่คณะเป็นอัตลักษณ์อันเดียวกันตน ( อภิญญา เฟื่องฟูสกุลม,2543) 
ในขณะที่อัตลักษณ์ตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษ-ไทย คำว่า Identify คือคำว่า อัตลักษณ์ ซึ่งตรงกับความหมายของคำนี้ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษนั่นก็คือ สิ่งที่เป็นคุณสมบัติของคนหรือสิ่งหนึ่งและมีนัยขยายต่อไปว่าเป็นคุณสมบัติเฉพาะของคนหรือสิ่งนั้น ที่ทำให้สิ่งนั้นโดดเด่นขึ้นมาหรือแตกต่างจากสิ่งอื่น แต่ในปัจจุบันความหมายนี้ได้แปรเปลี่ยนไป แนวโน้มทางทฤษฏียุคหลังสมัยใหม่ ( Postmodernism ) ทำให้เกิดการตั้งคำถามอย่างมากกับวิธีการมองโลก การเข้าถึง ความจริงของสิ่งต่างๆ รวมทั้งสิ่งที่เชื่อกันว่าเป็นความจริงที่เป็นแก่นแกน ของปัจเจกบุคคล วิธีคิดในกระแสนี้รื้อถอนความเชื่อเกี่ยวกับคุณสมบัติแก่นแกนของปัจเจกภาพ ความเป็นปัจเจกกลายเป็นเรื่องของการนิยามความหมายซึ่งสามารถไหลเลี่อนไหลเปลี่ยนแปลงไปตามบริบท อัตลักษณ์เป็นมโนทัศน์ที่คาบเกี่ยวสัมพันธ์กับวิชาหลายแขนงทางด้านสังคมศาสตร์ ทั้งสังคมวิทยามนุษย์วิทยา จิตวิทยาและปรัชญา อัตลักษณ์มีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นปริมณฑลเชื่อมต่อระหว่างขั้วทั้งสองในด้านหนึ่งอัตลักษณ์ คือ ความเป็นปัจเจก ที่เชื่อมต่อและสััมพันธ์กับสังคม  ( อภิญญา เฟื่องฟูสกุลม,2543 :1-5) 
ซึ่งเกี่ยวกับความหมายของอัตลักษณ์นี้ ประสิทธิ์ ลีปรีชา ( 2547: 32-33) ได้กล่าวถึงความหมายของอัตลักษณ์ว่า อัตลักษณ์ ( Identity) มีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินคือ Identitas เดิมใช้คำว่า Idem ซึ่งหมายว่าเหมือนกัน ( The same) อย่างไรก็ตามโดยพื้นฐานภาษาอังกฤษแล้ว อัตลักษณ์มีความหมายสองนัยยะด้วยกันคือ ความหมายเหมือนและความเป็นลักษณะเฉพาะที่แตกต่างออกไป นั่นคือการตีความเหมือนกันบนพื้นฐานของสัมพันธ์ และการเปรียบเทียบกันระหว่างคนหรือสิ่งของสองแง่มุมมองคือ ความคล้ายคลึงและความแตกต่าง (Richard Jenkins,1996:3-4 อ้างใน ประสิทธิ์ ลีปรีชา,2547: 33) นอกจากนั้นแล้ว Jenkins ยังชี้ให้เห็นว่าอัตลักษณ์มิใช่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวของมันเองหรือกำเนิดขึ้นมาพร้อมคนหรือสิ่งของ แต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมากและมีลักษณะความเป็นพลวัตอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสอดคล้องกับการให้การความหมายของ  (Berger and Luckman 1967:173 อ้างใน ประสิทธิ์ ลีปรีชา,2547: 33) ที่ว่าอัตลักษณ์ถูกสร้างขึ้นโดยกระบวนการทางสังคม ครั้งเมื่อตกผลึกแล้วอาจมีความคงที่ปรับเปลี่ยน หรือแม้กระทั้งเปลี่ยนแปลง หรือแม้กระทั้งเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ทางสัคมเป็นหลัก กล่าวโดยอีกนัยหนึ่งอัตลักษณ์เป็นเรื่องของความเข้าและการรับรู้ว่าเราเป็นใตและคนอื่นเป็นใครนั้นคืือเป็นการกอปรขึ้นและดำรงอยู่ว่าเรารับรู้เกี่ยวกับตัวเราอย่างไร และคนอื่นรับรู้เราอย่างไร โดยมีกระบวนการทางสังคมในการสร้างและสืบทอดอัตลักษณ์ ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับบริบทของความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีต่อคนหรือกลุ่มอื่นๆ ด้วย 
คำว่า อัตลักษณ์ มีความหมายที่ครอบคลุม ตั้งแต่เรื่องของเชื้อชติ เพศ สีผิว โดยปัจจุบันเราพบความเปลี่ยนแปลง และความเปลี่ยนแปลงและความไม่ชัดเจนของการแสดงอัตลักษณ์ในหลายๆ กลุ่มชน เนื่องจากอิทธิของการพัฒนาและการเปิดรับอารยธรรมของชนเผ่าที่มองว่า ตนเองเป็นผู้มีอารยธรรมเหนือกว่า ดังนั้นการพยายามเปลี่ยนแปลงโดยไม่เข้าใจที่มาของรูปแบบวัฒนธรรมนั้นย่อมทำให้ผู้รับเอาวัฒนธรรมมาตีความหมายที่ผิดแปลกออกไป การดูถูกทางวัฒนธรรมหรือ การเหยียดสีผิว การเหยียดชนชั้นจึงเป็นสิ่งที่ตามมา 
อัตลักษณ์ แตกต่างจากบุคลิกภาพในประเด็นที่สำคัญหลายประการ เราอาจมีบุคลิกภาพร่วมกับบุคคลอื่น แต่การมีอัตลักษณ์ร่วมมีนัยของการเกี่ยวพันกับการตื่นตัว (active) บางอย่างในตัวของเรา เช่นเราเลือกที่จะแสดงตัวตนกับกลุ่มหรืออัตลักษณ์ที่เฉพาะ ซึ่งบางครั้งเราอาจมีตัวเลือกมากกว่าคนอื่น และอัตลักษณ์ต้องการความตระหนัก (awareness) บางอย่างที่เกี่ยงข้องกับส่วนที่เป็นของเรา บุคลิกภาพอธิบายลักษณะต่างที่บุคคลทั่งไปน่าจะมี เช่น การเข้าสังคมเก่งหรืออาจเป็นคุณลักษณะภายใน แต่อัตลักษณ์ต้องการพื้นฐานบางอย่าง อาจถูกจัดประเภทด้วยการมีลักษณะบุคลิภาพ แต่เราต้องแสดงตนเอง( นั่นคือการยอมรับอย่างตั้งใจ) กับอัตลักษณ์ความสำคัญของการแสดงตัวตน (marking oneself) คือการมีอัตลักษณ์เหมือนกับกลุ่มหนึ่งและมีความแตกต่างกับอีกกลุ่มอื่น หากลองคิดถึงสถานการณ์ที่เราพบกับใครสักคนในครั้งแรก และเรากำลังพยายามค้นหาว่าเขาคือใคร ด้วยการตั้งคำถามว่าเขามาจากไหนและเขาทำอะไรในสถานการณ์ต่างๆ สิ่งเหล่านี้เป็นการกำลังพยายาค้นหาสิ่งที่เกี่ยวกับตัวของบุคคลนี้และสิ่งที่ทำให้เขาเหมือนกับเราด้วย (สิ่งที่เรามีร่วมกับเขา) และสิ่งที่ทำให้เขาแตกต่างจากเรา หรือการพิจารณาถึงสถานการณ์การเดินทางไกล สถานที่ที่คุณจะไป คุณได้ยินเสียงคนกลุ่มหนึ่งกำลังสนทนาแล้วพูดภาษาเดียวกับคุณ คุณจะรับรู้ด้วยความรู้สึกของการระลึกรู้(recognition)และความเป็นเจ้าของร่วมกับกลุ่มนั้นการที่คุณมีบางอย่างร่วมนี้ ได้นำเสนอช่วงของการระลึกรู้และการมีบางอย่างร่วมกับผู้อื่นผู้ที่มีอัตลักษณ์ร่วมกับคุณ อัตลักษณ์ถูกแสดงออกให้เห็นด้วยการคล้ายกัน นั่นคือมันเกี่ยวกับบุคคลที่เหมือนเราและความแตกต่างของบุคคลที่ไม่เหมือนกับเรา (Kath2000 ; 6-7 อ้างในพิศิษฏ์ )
นั้นอาจจะกล่าวสรุปได้ว่า อัตลักษณ์เป็นเรื่องที่มีส่วนร่วมกันอยู่ หลายประการ เช่น อัตลักษณ์เป็นเรื่องของปัจเจกคล อัตลักษณ์เป็นเรื่องของการสร้างจากบริบทเชิงพื้นที่และเวลา (วัฒน ธรรมและประวัติศาสตร์) อัตลักษณ์เป็นเรื่องของการให้คำนิยามและตีความ มีความหมายเชิงคุณค่า ซึ่งคุณค่าเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องได้รับความเป็นสากล แต่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมหรือการสร้างตัวตนจากวัฒนธรรมย่อยก็ได้ ทำให้เกิดการยอมรับซึ่งพหุลักษณ์ทางสังคม ซึ่งไม่เหมือนกับเอกลักษณ์ในคำนิยามสมัยแรกที่จะต้องสร้างเพื่อความเป็นปึกแผ่นของสังคมเท่านั้น แต่อัตลักษณ์เป็นเรื่องของการยอมรับในการรมีอยู่ของปัจเจกอย่างจริงจัง    

เยาวชน
เยาวชน ความหมาย ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 เยาวชน หมายถึง บุคคลที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 14 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ และไม่ใช่ผู้บรรลุนิติภาวะแล้วจากการจดทะเบียนสมรส ในทางกฎหมายก็ถือว่าบุคคลที่มีอายุระหว่างนี้เป็นเยาวชนและหากต้องระวางโทษก็จะพิจารณาโทษแตกต่างจากผู้ใหญ่
ความหมายในระดับสากล โดย สหประชาชาติ ระบุว่า เยาวชน หมายถึง คนในวัยหนุ่มสาว คือ ผู้มีอายุระหว่าง 15 - 25 ปี หรือเป็นช่วงวัยหนุ่มสาว. เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวตอกระหว่างการเป็นเด็กและผู้ใหญ่. เป็นช่วงที่กังวลเกี่ยวกับรูปลักษณ์และสิ่งรอบตัวมากเป็นพิเศษ. ISBN 1-59033-727-1

แนวคิดในยุคศตวรรษที่ 21

คริสต์ศตวรรษที่ 21 หรือช่วงเวลาระหว่าง คริสต์ศักราช (ค.ศ.) 2001 ถึง 2100 หรือ พุทธศักราช (พ.ศ.) 2544 ถึง 2643

ศตวรรษที่ 21 สถานการณ์โลกมีความแตกต่างจากศตวรรษที่ 20 และ 19 ระบบการศึกษา ต้องมีการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะความเป็นจริง
ในประเทศสหรัฐอเมริกาแนวคิดเรื่อง "ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21" ได้ถูกพัฒนาขึ้น โดยภาคส่วนที่เกิดจากวงการนอกการศึกษา ประกอบด้วย บริษัทเอกชนชั้นนำขนาดใหญ่ เช่น บริษัทแอปเปิ้ล บริษัทไมโครซอฟ บริษัทวอล์ดิสนีย์ องค์กรวิชาชีพระดับประเทศ และสำนักงานด้านการศึกษาของรัฐ รวมตัวและก่อตั้งเป็นเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century Skills) หรือเรียกย่อๆว่า เครือข่าย P21 
หน่วยงานเหล่านี้มีความกังวลและเห็นความจำเป็นที่เยาวชน จะต้องมีทักษะสำหรับการออกไปดำรงชีวิตในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนไปจากศตวรรษที่ 20 และ 19 จึงได้พัฒนาวิสัยทัศน์และกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21ขึ้น สามารถสรุปทักษะสำคัญอย่างย่อๆ ที่เด็กและเยาวชนควรมีได้ว่า ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม หรือ 3และ 4ซึ่งมีองค์ประกอบ ดังนี้ 
3 R ได้แก่ Reading (การอ่าน), การเขียน(Writing) และ คณิตศาสตร์ (Arithmetic) และ
4 C (Critical Thinking - การคิดวิเคราะห์, Communication- การสื่อสาร Collaboration-การร่วมมือ และ Creativity-ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะชีวิตและอาชีพ และทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี และการบริหารจัดการด้านการศึกษาแบบใหม่  ( สกล สุวรรณาพิสิทธิ์)


เยาวชนไทยในยุคศตวรรษที่ 21 
คุณลักษณะเด็กไทยในศตวรรษที่ 21 ความต้องการกำลังคนยุค 4.0 หลัก 3Rs x 8Cs เด็กไทยในฝัน 
(สภาการศึกษา)


3Rs = การอ่านออก/ การเขียนได้/ การคิดเลขเป็น
8Cs = คิดอย่างมีวิจารณญาณและมีทักษะในการแก้ปัญหา/ ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม/ ทักษะความร่วมมือและการทำงานเป็นทีม ภาวะผู้นำ/ ทักษะด้านความเข้าใจความต่างของวัฒนธรรม กระบวนทัศน์/ ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศและการสื่อสาร/ ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร/ ทักษะอาชีพและการเรียนรู้/ ความมีเมตตา วินัย คุณธรรมและจริยธรรม

อัตลักษณ์เยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21

เยาวชนไทยควรมีอัตลักษณ์อย่างไรในยุคศตวรรษที่ 21 อัตลักษณ์เยาวชนไทยมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะส่งผลต่อเอกลักษณ์ของชาติ และความเป็นความเป็นชาติไทยสำหรับแนวคิดเรื่องอัตลักษณ์ในบทความนี้จะกล่าวถึงอัตลักษณ์ของเยาวชนไทยซึ่งอยู่ช่วงอายุระหว่าง 14-25 ปี หรือเป็นช่วงวัยรุ่นหนุ่มสาว เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ และในบทความนี้จะขอนำเสนอ Model ต้นแบบของเยวชนไทยในยุคศตวรรษที่ 21 หรือ อัตลักษณ์เยาวชนไทยในยุคศตวรรษที่ 21 ควรมีลักษณะอย่างไร 

จุดประสงค์ของ Model นี้เป็นต้นแบบแห่งการปรับตัวของเยาวชนไทย เพื่อรับกับสถานการณ์โลกในวันข้างหน้าที่กำลังโหมเข้ามาสู่สังคมไทย ผู้เขียนเห็นว่า เราควรมีเอกลักษณ์หรือจุดยืนในด้านอัตลักษณ์ของเยาวชนไทยเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยที่เรายังคงไว้ซึ่งความเป็นไทยและคุณธรรม จึงจำเป็นต้องมีรูปแบบหรือModel ที่แสดงให้เห็นว่าอัตลักษณ์ที่เหมาะสมกับสถานการณ์โลก



Model : แสดงอัตลักษณ์เยาวชนไทยในยุคศตวรรษที่ 21
Model : แสดงอัตลักษณ์เยาวชนไทยในยุคศตวรรษที่ 21

 คำอธิบายอักษรย่อ Model
1. I of Civic Duty อัตลักษณ์ด้านพลเมืองไทยและพลเมืองโลก
2. I of Culture & Civilization อัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรมและอารยธรรม
3. I of Body & Knowledge อัตลักษณ์ด้านวิชาการ
4. I of Viture อัตลักษณ์ด้านคุณธรรมจริยธรรม
5. I of Wisdom อัตลักษณ์ด้านปัญญา

โดยอัตลักษณ์เยาวชนไทยในยุคศตวรรษที่ 21 ที่ว่านี้มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

1. I of Civic Duty อัตลักษณ์ด้านพลเมืองไทยและพลเมืองโลก
เยาวชนไทยต่อบทบาทหน้าที่พลเมืองไทยที่ดี

หน้าที่ของพลเมืองดี
พลเมืองดี หมายถึง ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่พลเมืองได้ครบถ้วน ทั้งกิจที่ต้องทำ และกิจที่ควรทำ
หน้าที่ หมายถึง กิจที่ต้องทำ หรือควรทำ เป็นสิ่งที่กำหนดให้ทำ หรือห้ามมิให้กระทำ ถ้าทำก็จะก่อให้เกิดผลดี เกิดประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว หรือสังคมส่วนรวมแล้วแต่กรณี ถ้าไม่ทำหรือไม่ละเว้นการกระทำตามที่กำหนดจะได้รับผลเสียโดยตรง คือ ได้รับโทษ หรือถูกบังคับ เช่น ปรับ จำ คุก หรือประหารชีวิต เป็นต้น โดยทั่วไปสิ่งที่ระบุกิจที่ต้องทำ ได้แก่ กฎหมาย เป็นต้น
กิจที่ควรทำ คือ สิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำ หรือละเว้นการกระทำ ถ้าไม่ทำหรือละเว้นการกระทำ จะได้รับผลเสียโดยทางอ้อม เช่น ได้รับการดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือไม่คบค้าสมาคมด้วย ผู้กระทำกิจที่ควรทำจะได้นับการยกย่องสรรเสริญจากคนในสังคม โดยทั่วไปสิ่งที่ระบุกิจที่ควรทำ ได้แก่วัฒนธรรมประเพณี เป็นต้น ฃ
อัตลักษณ์เยาวชนไทยด้านพลเมืองที่ดีของประเทศควรมีบทบาทและหน้าที่ของเยาวชนที่มีต่อสังคมและประเทศชาติ โดยเน้นจิตสาธารณะควรมีลักษณะดังนี้
1. เคารพกฎกติกาของสังคม                        
2. ปฏิบัติตนตามกฎหมาย                            
3. ใฝ่เรียนรู้ รอบรู้ มีสติปัญญาขยันขันแข็ง
4. มีความซื่อสัตย์สุจริต                              
5. มีความสามัคคี มี ระเบียบวินัย  เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน                                    
6. รู้จักรับผิดชอบชั่วดีตามหลักจริยธรรม และหลักธรรมของศาสนา
7. มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม
8. มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 
9.รักษาสาธารณสมบัติ
10.อนุรักษ์และสืบสานประเพณี วัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่ดีงามของไทย และวัฒนธรรมของชาติคำสั่งสอนของพ่อแม่ ครู อาจารย์
11. สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ
   

เยาวชนไทยต่อบทบาทหน้าที่พลเมืองโลก

2. I of Culture & Civilization อัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรมและอารยธรรม หมายถึง รูปแบบของกิจกรรมมนุษย์ โครงสร้างเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้กิจกรรมนั้นเด่นชัดและมีความสำคัญ วิถีการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นพฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้นด้วยการเรียนรู้ซึ่งกันและกันร่วมใช่อยู่ในหมู่พวกของตน ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามยุคสมัยและความเหมาะสม แต่ถ้าแปลในวิชาหน้าที่พลเมือง จะแปลว่าสิ่งที่มนุษย์เปลี่ยนแปลงเพื่อความเจริญงอกงามและสืบต่อกันมา
ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม เช่น ดนตรี วรรณกรรม จิตกรรม ประติมากรรม การละเล่น การแสดง ความคิด ความเชื่อ ความรู้ ระเบียบประเพณี ตลอดจนความประพฤติและกิริยาอาการหรือการกระทำใดๆ ของมนุษย์ในส่วนรวม เป็นต้น
จากที่กล่าวมาแล้ว วัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่มีลักษณะดังนี้คือ
1.     เป็นพฤติกรรมทีเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ ทั้งรวมถึงทัศนคติ ค่านิยม วัฒนธรรม ที่อยู่ในรูปแบบที่มนุษย์สร้างขึ้นซึ่งอาจมีรูปแบบแตกต่างกันไป
2.     เป็นสิ่งที่อยู่ร่วมกัน
3.     เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา
4.     เป็นสิ่งที่สร้างความพึงพอใจแก่มวลมนุษย์ได้
5.     เป็นสิ่งที่ปรับเปลี่ยนได้
6.     เป็นสิ่งที่เป็นผลงานหรือการผสมผสานทางวัฒนธรรม
7.     เป็นรูปแบบพฤติกรรมในอุดมคติที่ต้องปฏิบัติตาม
8.     เป็นลักษณะเหนืออินทรีย์
ประเทศไทยเราเป็นประเทศเอกราชมาช้านาน ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศใดในโลก จึงมีวัฒนธรรมในด้านต่าง ๆ  สืบทอดต่อกันมาหลายร้อยปีจนถึงปัจจุบันและเป็นที่ประจักษ์เป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกที่มีโอกาสมาสัมผัส เช่น ด้านอาหาร ประเพณีวันสำคัญ สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ฯลฯ
แต่สังคมไทยปัจจุบันมีการเปล่ี่ยนแปลง วัฒนธรรมที่ดีงามที่ได้รับการสืบต่อกันมา ได้เปลี่ยนรูปแบบอย่างชัดเจน เป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธโดยเฉพาะความคิด ค่านิยม พฤติรรมของเยาวชนไทยยุคศตวรรษที่ 21 เมื่อโลกเปิดกว้าง เทคโนโลยีก้าวหน้า ข้อมูลข่าวสาร อิทธิพลของวัฒนธรรมต่างประเทศเข้ามครอบงำ ในการดำเนินชีวิตของเยาวชนไทย กระแสบริโภคนิยม ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย รักความสนุก สะดวกสบาย ดูหนัง ฟังเพลง คุยโทรศัพท์หรือเล่นอินเตอร์เน็ต ห่างเหินครอบครัว ห่างเหินสถาบันศาสนา มีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร กิริยามารยาทที่แสดงออกในสังคมหรือกับผู้ใหญ่มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าวมากขึ้น ต่างๆ เหล่านี้คือ สิ่งที่เยาวชนมีพฤติกรรมไหลไปตามกระแสโลกาภิวัฒน์ แม้จะมีส่วนดีอยู่บ้างแต่ในเชิงลบมีให้เห็นอย่างชัดเจนมากกว่า
โกวิท ป. ประพันธ์ไพรัชพากษ์ ได้นิยาม "ผู้มีวัธนธัมทางจิตใจ" ว่าจะต้องมีคุนสมบัติดังนี้ 
1. เป็นผู้รักสาไว้ซึ่งเกียรติและความเปนเอกราชของชาติ
2. เป็นผู้เสียสละให้แก่ชาติ
3. เป็นผู้ซื่อตรง
4. เป็นผู้รักสาวินัยอย่างเคร่งครัด
5. เป็นผู้กล้าหาน
6. เป็นผู้รักความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์
7. เป็นผู้รักเกียรติสักติของตน
8. เป็นผู้ทำงานด้วยความเข้มแข็งอดทน
9. เป็นผู้มีความสุภาพเป็นนิสัย


การเป็นผู้รักษาไว้ซึ่งเกียรติและความเป็นเอกราชของชาตินั้น หมายถึงว่า เมื่อเราถือตามรัถนิยมว่า ชาติไทยต้องอยู่เหนือสิ่งใด ๆ แล้ว เราก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิแห่งรัถนิยมนี้ ที่จะทำได้ดังนี้ เราจะต้องสร้างจิตใจของเราให้รู้สึกว่า เราภูมิใจที่เป็นคนไทย โดยประการที่เรามีอิสระภาพ เรามีศาสนา เรามีภาษา เรามีขนบธรรมเนียมประเพณี และเรามีวัฒนธรรมประจำชาติดีเท่ากับชาติอื่นที่มีอารยธรรมสูงด้วยกัน และบางอย่างดีกว่าเสียด้วยซ้ำ

ในการที่จะสร้างอัตลักษณ์ที่ดีงามให้เกิดขึ้นในเยาวชนไทยต้องอาศัยความร่วมมือของคนไทยทุกคน โดยการให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะวัฒนธรรมต้องมีการสืบสาน ผู้ที่จะทำได้ดีคือ เยาวชน การจะสร้างอัตลักษณ์เยาวชนไทยในด้านวัฒนธรรมมีวิธีดังนี้
1.รวบรวมข้อมูลข่าวสารต่างๆ จากคนท้องถิ่นและเอกสารที่ได้มีการบันทึกไว้ เพื่อนำการศึกษา วิจัย ให้เข้าถึงแก่นแท้ของเอกลักษณ์และคุณประโยชน์ของวัฒนธรรม ซึ่งช่วยให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ยอมรับ และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
2.ส่งเสริมให้เห็นคุณค่าของประเพณีไทย โดยเฉพาะประเพณีท้องถิ่นให้ตนในท้องถิ่นหรือเยาวชนในท้องถิ่น ตะหนักถึงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจและสามารถปรับตัว เข้ากับความเปลี่ยนแปลงจากวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่เข้ามา
3.ปลูกฝังทัศนคติว่าทุกคนมีหน้าที่ เสริมสร้าง ฟื้นฟู และดูแลรักษา สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมให้เป็นสมบัติของชาติ ให้ทุกคนเกิดความเข้าใจสิ่งเหล่านี้มีผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของทุกคน
4.ส่งเสริมให้ใช้ศิลปวัฒนธรรมเป็นสื่อกลาง ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทั้งวัฒนธรรมภายในประเทศระหว่างท้องถิ่นต่าง ๆ และระหว่างประเทศ
5.สร้างศูนย์กลางในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ผลงานด้านวัฒนธรรมด้วยระบบเครือข่ายสารสนเทศ เช่น เวปไซด์ เพื่อให้ประชนเข้าถึงได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว สามารถปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้ง่ายขึ้น

การที่ชาติไทยและคนไทยมีความมั่นคงยืนยงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้เพราะเรามีเอกลัษณ์ มีวัฒนธรรมไทยที่เป็นวิถีชีวิตของเรา ผู้ที่จะสืบสานวัฒนธรรมได้ดีที่สุดคือ เยาวชนไทย ด้วยการได้รับการปลูกฝัง สนับสนุน ให้เยาวชนเห็นคุณค่าและผสมผสานมาใช้ในการดำเนินชีวิต ทำให้เกิดอัตลักษณ์ที่ดีงามของเยาวชนไทยต่อไป



3. I of Body & Knowledge อัตลักษณ์ด้านวิชาการ หมายถึง ความสามารถในการประกอบอาชีพของตนในอนาคต มีทักษะทางภาษาและเทคโนโลยี และมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตในด้านต่าง ๆ ได้แก่
2.1 การเตรียมตัวเพื่ออาชีพในอนาคต หมายถึง การให้ความสำคัญกับการประกอบอาชีพต่างๆ ในสังคม ซึ่งจากแนวคิดเกี่ยวกับนักศึกษาและบัณฑิตในอนาคต ฉบับที่ 2 พ.ศ.2551-2565 (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, 2551) ได้กล่าวไว้ว่าในสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้การทำงานของบัณฑิตในอนาคตมีความแตกต่างไปจากเดิม เช่น การทำงานโดยมีหลายอาชีพ ทั้งตลอดช่วงอายุการทำงาน การทำงานไร้สังคม ( Freelance) ความไม่แน่นอนของรายได้ เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความไม่สอดคล้อง ( Mismatch ) ระหว่างการศึกษาและทักษะอาชีพที่พึงประสงค์ในอนาคต ดังนั้น อัตลักษณ์เยาวชนในปัจจุบันจึงควรสนใจในทักษะวิชาชีพต่างๆ ที่สามารถสร้างรายได้ให้ตนเอง โดยเริ่มแรกควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพที่สามารถทำได้เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ในสาขาวิชาที่เรียนโดยเฉพาะผู้ที่เรียนในสาขาวิชาที่ไม่มีวิชาชีพเฉพาะ เช่น ศิลปศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ควรศึกษาให้ละเอียดว่าในแต่ละวิชาชีพต้องการความสามารถพิเศษอะไร แล้วหาประสบการณ์เพิ่มเติมในวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกงาน โดยไม่ควรรอให้สำเร็จการศึกษาก่อน ควรเริ่มตั้งแต่ขณะเรียน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม นอกจากนี้ควรมีความสามารถพิเศษต่างๆ ลองพิจารณาว่าความสามารถพิเศษนั้นจะสามารถสร้างร้ายได้ให้กับตนเองได้อย่างไร เช่น บางคนมีทักษะในการถ่ายภาพ หากพัฒนาตนเองในอนาคตได้ สำหรับกลุ่มเยาวชนที่ครอบครัวมีกิจการเป็นของตนเองไม่ว่จะเป็นธุรกิจส่วนตัวหรือด้านการเกษตรนับเป็นโอกาสที่ดี ที่จะสามารถฝึกฝนตนเองทางด้านการประกอบวิชาชีพ และต่อยอดธุรกิจครอบครัวได้ โดยอาจนำมาผนวกกับสาขาวิชาที่ตนเองเรียน เช่น หากมีผู้ปกครองทำการเกษตร และตนเองศึกษาในวิชาบริหารธุรกิจ อาจศึกษาวิธีการทำเกษตรขนส่งสินค้าเกษตรให้ได้มีคุณภาพและมาตราฐานมากขึ้้น เป็นต้น

2.2 การมีทักษะทางภาษาและเทคโนโลยี  ทักษะทางภาษาและการใช้เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการแสวงหาความรู้ ดังที่สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( 2553 ) ได้กำหนดคุณลักษณะบัณฑิตที่พึงประสงค์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บัณฑิตจุฬา ฯ เป็นผู้ที่มีคุณค่าของสังคมโลก” ไว้ว่ามีทักษะทางการสื่อสารใช้ภาษาไทยและภาษา อังกฤษได้ดีทั้งการฟังพูดอ่านและเขียน เพื่อการสื่อสารให้เหมาะสมกับสถานการณ์รวมถึงมีทักษะทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการสื่อสารและค้นคว้าข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จึงควรใส่ใจในทักษะภาษาไทยเพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการเรียนรู้ในวิชาอื่น ๆ ดังที่สมเด็จพระเทพรัตนราช สุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงมีพระราชดำรัสเนื่องในงานสัมมนาทางวิชาการเรื่องภาษาไทยกับการพัฒนาชาติ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 พระองค์ทรงชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภาษาไทยดังความตอนหนึ่งว่า “......ภาษาไทยมีความสำคัญอย่างมากในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติ ผู้รู้ภาษาไทยดีการเรียนรู้วิชาอื่นก็จะเข้าใจดีไปด้วยหากอ่านเข้าใจและรู้เรื่องก็สามารถเรียนวิชาอื่น ๆ ได้รวมทั้งแสวงหาความรู้รอบตัวด้วย.....นอกจากนี้ควรฝึกฝนทักษะด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาสากล โดยควรเน้นเพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงเช่น การซื้อขายสินค้า การพูดคุย มากกว่า การไปเรียนติวในสถานบันกวดวิชา และรวมไปถึงการเรียนรู้ภาษาที่สามด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับตนเองส่วนในด้านเทคโนโลยีซึ่งมีบทบาทในการดำรงชีวิตในปัจจุบัน ดังที่ นันทนา วงษ์อินทร์ ( 2534) ได้กล่าวถึงเยาวชนไทยในปัจจุบันซึ่งอยู่ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายและรวดเร็ว เนื่องจากมีการพัฒนาเทคโนโลยีจนกลายเป็นโลกที่ไร้พรมแดน มนุษย์ได้รับรู้ มีประสบการณ์และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้สะดวกและกว้างขวางมากขึ้น มนุษย์รับเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตและพยายามพัฒนาตนเองให้ทันกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จนทำให้เกิดความเครียดขึ้นโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าเทคโนโลยีมีทั้งประโยชน์และโทษ เมื่อเป็นเช่นนี้ควรใช้เทคโนโลยีไปในทางที่ถูกต้องสร้างสรรค์ เพื่อเกิดประโยชน์กับตนเองมากที่สุด

2.3 การเรียนรู้ตลอดชีวิต การเป็นผู้สนใจเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้นเป็นอัตลักษณ์ของเยาวชนไทยในยุคศรวรรษที่ 21 ที่จำเป็นอย่างยิ่ง ควรปรับเปลี่ยนความคิดที่ว่าเรียนจบก็ถือว่ามีความรู้เพียงพอในการประกอบอาชีพแล้ว ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้ ความรู้มีการเปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาหากเราไม่เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตก็อาจจะไม่ทันการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในสังคมได้ จากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ได้บัญญัติความหมายของการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตเกิดจาการเรียนรู้ด้วยวิธีเรียนต่าง ๆ ทั้งอย่างมีระบบและไม่มีระบบ โดยตั้งใจหรือโดยบังเอิญก็ได้โดยเป้าหมายในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณค่าของตนเอง ( สุภัชฌาน์   ศรีเอี่ยม,2558 :205-206 )

4. I of Viture อัตลักษณ์ด้านคุณธรรมจริยธรรม หมายถึง ความสามารถในการจัดการปัญหาทางคุณธรรม จริยธรรมและวิชาชีพ โดยใช้ดุลยพินิจทางค่านิยม ความรู้สึกของผู้อื่น ค่านิยมพื้นฐาน และจรรยาบรรณวิชาชีพ

ลักษณะของเยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21  ที่พึงมีประจำตนคือจะเป็นผู้ที่มีคุณลักษณะดังนี้
1. เป็นผู้ที่มีความเพียรความพยายามประกอบความดี ละอายต่อการปฏิบัติชั่ว
2. เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม และมีเมตตากรุณา
3. เป็นผู้มีสติปัญญา รู้สึกตัวอยู่เสมอ ไม่ประมาท
4. เป็นผู้ใฝ่หาความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพ เพื่อความมั่นคง
5. เป็นผู้ที่รัฐสามารถอาศัยเป็นแกนหรือฐานให้กับสังคม สำหรับการพัฒนาใด ๆ ได้

แนวทางการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมที่กำหนดโดยรัฐบาลหรือกระทรวง ทบวง หน่วย งานที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนไทย จากคุณสมบัติของผู้มีจริยธรรมดังกล่าว แสดงถึงความเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ มีภาวะความเป็นผู้นำ อันเป็นที่ต้องการขององค์การและสังคมทุกระดับ รัฐบาลไทยได้เห็นความสำคัญ ของการพัฒนาคุณภาพของเยาวชนในด้านจริยธรรมและ คุณธรรมในสังคม จึงได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 8 โดยเน้นการพัฒนาจิตใจในลักษณะที่สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจและ สังคมปัจจุบัน ซึ่งผลที่ปรากฏในปัจจุบันก็คือ มีการเผยแผ่ธรรมะทางสื่อต่าง ๆ มากมาย วัดวาอารามก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมส่วนช่วยในการอบรมสั่งสอนด้วย จริยธรรมเป็นจริยสมบัติ เยาวชนในยุคศตวรรษที่ 21 สำคัญอย่างยิ่ง รัฐบาลควรให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี คนไทยวัยหนุ่มสาวและเยาวชนได้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก จากที่เห็นได้จากสื่อและข่าวต่าง ๆ เนื่องจากจริยธรรมเป็นคุณสมบุติที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการวัดคุณภาพของคน ซึ่งมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเยาวชนไทยในอนาคต
เพื่อให้เยาวชนไทย เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่พึงประสงค์ขององค์การและประเทศชาติโดยแท้จริง การพัฒนาด้านคุณธรรมจริยธรรม เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมอัตลักษณ์เยาวชนไทยให้เป็นคนดี มีคุณภาพในสังคมและเป็นส่วนหนึ่งสำหรับการพัฒนาประเทศที่สำคัญ โดยด้านสถาบันการศึกษาก็ควรได้มีการบรรจุหลักคุณธรรมไว้ในหลักสูตร เพื่อเป็นการพัฒนาและให้การศึกษากับคนทั้งชาติ เพื่อการพัฒนาจิตใจของคนในชาติให้มีคุณภาพ

            
5. I of Wisdom อัตลักษณ์ด้านปัญญา


โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกแห่งการใช้ “ปัญญา” ในการเรียนรู้ โดยเฉพาะปัจจุบันเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ การรับรู้ข้อมูลข่าวสารทำได้รวดเร็ว ดังนั้นอัตลักษณ์ของเยาวชน จำเป็นต้องเป็นผุ้มีความสามารถในการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ อะไรถูก อะไรผิด อะไรดี อะไรชั่ว ด้วยการใช้ปัญญา ซึ่งสอดคล้องกับหลักพุทธธรรม คือ การคิดแบบโยนิโสมนสิการ เป็นการคิดแบบไม่ปล่อยให้กระบวนการ คิดแบบสนองตัณหา หรือ การคิดที่ใช้ความรู้สึกเป็นตัวนำ แต่คิดโดยโดยใช้เหตุผลแยกแยะ คุณ-โทษ-ดี-ชั่ว ซึ่งในปัจจุบันเยาวชนส่วนใหญ่ แทบทุกภูมิภาค ไม่รู้จักคิดและดำเนินชีวิตอย่างฟุ่งเฟ้อ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย รักความสะดวกสบาย มีลักษณะบริโภคนิยม เสพติดสื่อต่าง ๆ โดยไม่ใช้ปัญญา ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานั้น อัตลักษณ์เยาวชนไทยด้านปัญญา แบบโยนิโสมนสิการ จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งโดยมีวิธีคิดแบบใช้ปัญญาดังนี้
1.     เยาวชนไทย ควรมีความคิดแบบสืบสาว หาเหตุปัจจัย พิจารณาค้นหาสาเหตุและปัจจัยต่างๆ ต่อสภาวะกรณีหรือเหตุการณ์ทีเกิดขึ้น ด้วยการหาความสัมพันธ์ ตั้งคำถามและหาคำตอบ
2.     เยาวชนไทย ควรคิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ เป็นการแยกแยะสิ่งทั้งหลายเป็นองค์ ประกอบย่อย และจัดหมวดหมู่องค์ประกอบอย่างชัดเจน เป็นการคิดแบบวิเคราะห์
3.     เยาวชนไทย ควรคิดแบบรู้เท่าทัน สิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่พบเห็นนั้น ๆ คิดและรู้เท่าทันและยอมรับความจริงหรือแก้ไขสิ่งนั้นด้วยควาามรู้ แก้ที่สาเหตุหรือเหตุปัจจัย
4.     เยาวชนไทย รู้จักคิดแบบแก้ปัญหาหรือคิดแบบอริสัจเป็นวิธีคิดที่สามารถขยายให้ครอบคลุมวิธีคิดแบบอื่นๆ ได้ทั้งหมดมีลักษณะ 2 ประการคือ
1.     วิธีคิดตามเหตุและผล โดยสืบสาวจากผลไปหาเหตุแล้วแก้ไขที่เหตุ จัดเป็น 2 คู่คือ
คู่ที่ 1     กำหนดปัญหา
            กำหนดเหตุของปัญหา
คู่ที่ 2    กำหนดจุดหมายที่เป็นภาวะสิ้นปัญหา
            กำหนดวิธีการเพื่อแก้ไขสาเหตุและเพื่อบรรลุภาวะสิ้นปัญหา
2.     วิธีคิดที่มุ่งตรงต่อสิ่งที่จะต้องทำ ต้องเกี่ยวข้องกับชีวิต หลักการของวิธีคิดแบบอริยสัจประกอบด้วย
ขั้นที่ 1 ทุกข์หรือสภาพปัญหา ขั้นนี้เป็นการทำความเข้าใจและกำหนดขอบเขตปัญหาให้ชัด
ขั้นที่   2    สมุทัยหรือสาเหตุปัญหา ขั้นนี้เป้นการพิจารณาสืบสาวหาสาเหตุและปัจจัยทีเกี่ยวข้องซึ่งส่งผลให้เป็นปัญหา
ขั้นที่  3   นิโรธหรือภาวะปราศจากปัญหาซึ่งเป็นจุดหมายที่ต้องการ ขั้นนี้จะต้องกำหนดว่าจุดหมายที่ต้องการคืออะไร จุดหมายนั้นเป็นไปได้หรือไม่ มีหลักการในการเข้าถึงอย่างไร มีจุดหมายที่ลดหลั่นเป็นขั้นตอนในระหว่างได้อย่างไร
ขั้นที่ 4  มรรคหรือวิธีแก้ปัญหา ขั้นนี้เป็นการกำหนดวิธีการ แผนการและรายการสิ่งที่จะต้องทำเพื่อกำจัดสาเหตุของปัญหาและเข้าถึงจุดหมายที่ต้องการ
5.     วิธีคิดแบบอรรถธรรมสัมพันธ์หรือคิดตามหลักการและความมุ่งหมาย เป็นวิธีคิดที่มีความสำคัญมาก เมื่อจะปฏิบัติตามหลักการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้ได้ผลตรงตามความมุ่งหมาย วิธีคิดนี้เป็นกระบวนการของเหตุและผลที่สัมพันธ์กันตลอดเวลา
6. วิธีคิดแบบคุณโทษและทางออกวิธีคิดแบบนี้พระพุทธเจ้าทรงเน้นมาก (พระอภิธรรมปิฎก .2543ข: 27) เป็นการวิเคราะห์สิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงอีกแบบหนึ่งและเป็นวิธีคิดที่ต่อเนื่องกับการปฎิบัติมากลักษณะของวิธีคิดแบบนี้ประกอบด้วย
6.1 การมองเห็นและยอมรับ ทุกสิ่งมีด้านดี(เป็นคุณ) และด้านเสีย(เป็นโทษ )
6.2 มองเห็นทางออกที่ดีที่สุดเมื่อจะแก้ปัญหาคือรู้ว่าจุดหมายที่จะไปนั้นคืออะไรอย่างไร
วิธีคิดแบบนี้จะทำให้ปฏิบัติได้ถูกต้องที่สุด มีความไม่ประมาทอาจนำส่วนดีของสิ่งที่ตนละเว้นมาใช้ประโยชน์ได้และสามารถหลีกเลี่ยง หรือมีโอกาสแก้ไขส่วนเสียส่วนบกพร่องที่ติดมากับวิธีปฏิบัติที่ตนเลือกได้
7.วิธีคิดแบบคุณค่าแท้ คุณค่าเทียม เป็นวิธีคิดแบบสกัดหรือบรรเทาตัณหาไม่ให้กิเลส เข้า ครอบงำจิตใจแล้วชักจูงพฤติกรรมต่อไป วิธีคิดแบบนี้ใช้มากในชีวิตประจำวันเพราะเกี่ยวข้องกับการบริโภคใช้สอดใช้สอยประจำใช้สอยปัจจัย 4 และวัสดุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ วิธีคิดแบบนี้เป็นการไตร่ตรองประเมินค่าสิ่งต่าง ๆ และเลือกปฏิบัติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แท้จริงของชีวิตเพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นทำให้ผลจากความเป็นทาสของวัตถุ
มนุษย์มีความต้องการและให้คุณค่ากับสิ่งที่สามารถสนองความต้องการของตน คุณค่าจำแนกแบ่งเป็น 2 ประเภทตามชนิดของความต้องการคือคุณค่าแท้หมายถึงคุณค่าหรือประโยชน์ของสิ่งที่แท้ที่สนองความต้องการของชีวิต เป็นคุณค่าที่เกิดจากบทบาทหน้าที่และผลของบทบาทหน้าที่อย่างแท้จริง คุณค่าแท้ต้องใช้ปัญญาเป็นเครื่องตีค่าหรือวัดคุณค่าเทียมหรือคุณค่าพอกเสริมหมายถึงคุณค่าหรือประโยชน์ที่มนุษย์ปรุงแต่งพอกพูนให้สิ่งนั้น เพื่อปรนเปรอการเสพ เพื่อเสริมราคา หรือขยายความยิ่งใหญ่ของตนที่ยึดถือ คุณค่าเทียมใช้ปัญหาเป็นเครื่องปีค่ะปีค่ะหรือวัดทำให้เกิดความทะยานอยากมากขึ้นแก่งแย่งริษยา ปราศจากความสงบสุข บางทีเป็นอันตรายแก่ชีวิต
  8. วิธีคิดแบบปลุกเร้าคุณธรรมเป็นวิธีคิดแบบสกัดหรือบรรเทาตันหา และเป็นข้อปฏิบัติระดับต้นสำหรับส่งเสริมความเจริญของธรรมและสร้างเสริมสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกียะ หลักการทั่วไปของวิธีคิดแบบนี้คือ การนำเอาประสบการณ์มาปรับปรุงชักนำความคิดให้เป็นไปในทางที่ดีงามเป็นประโยชน์เป็นกุศลไม่ประมาททำให้เกิดเจตคติที่ดีต่อบุคคลเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมมีจิตใจสะอาดผ่องแผ้ว
9. วิธีคิดแบบเป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นการคิดวิเคราะห์เหตุผลเชื่อมโยงสัมพันธ์องค์ประกอบต่าง ๆ จนเกิดความรู้จักคิดที่จะทำปัจจุบันให้ดีที่สุดไม่คิดอาลัยอาวรณ์ถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้วหรือเลื่อนลอยฟุ้งซ่านกับภาพที่วาดฝันปัจจุบันในที่นี้ หมายถึง สิ่งที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นนั้นซุ่มคลุมเครือถึงเรื่องราวทั้งหลายที่เชื่อมโยงต่อกันมาถึงสิ่งที่กำลังรับรู้กำลังพิจารณา เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการกระทำกิจหน้าที่ดังนั้นวิธีคิดแบบเป็นอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นวิธีคิดที่จะช่วยให้การปฏิบัติในปัจจุบันถูกต้องได้ผลดียิ่งขึ้นเพราะมีการเตรียมการและวางแผนล่วงหน้า
10.วิธีคิดแบบวิภัชชวาท แม้จะไม่ใช่วิธีคิดโดยตรงแต่เป็นวิธีพูดหรือการแสดงหลักการแห่งคำสอนเป็นการสื่อสารความหมายตามความคิดที่จำแนกแยกแยะประเด็นและแง่มุมต่าง ๆ อย่างครบ ถ้วนและตรงตามความจริงเช่นความจริงของสิ่งนั้นด้านส่วนประกอบด้านสืบทอดของเหตุปัจจัยด้านความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยด้านเงื่อนไขของสถานการณ์เป็นต้น 
จะเห็นได้ว่าโยนิโสมนสิการ ทำงานทั้งขณะรับรู้อารมณ์หรือประสบการณ์ภายนอกและขนาดคิดพิจารณาอารมณ์หรือเรื่องราวที่เก็บเข้ามาภายในตน ข้อที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งของการรับรู้ด้วยโยนิโสมนสิการคือ รับรู้เพียงเพื่อเป็นความรู้ และเป็นข้อมูลสำหรับสติเพื่อจะเอาไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตและทำกิจกรรมต่าง ๆ โยนิโสมนสิการ จะช่วยแบ่งเบาแก้ทุกปัญหาให้ลดลงและทำให้เกิดคุณภาพทางอารมณ์อย่างใหม่ทดแทน เช่น ความผ่องใส สดชื่น  ปลอดโปร่งเบิกบานใจโยนิโสมนสิการจึงเป็นที่เชื่อมให้บุคคลติดต่อกับโลกอย่างถูกต้อง โดยทางจิตใจของตนเองซึ่งได้แก่ท่าทีแห่งการรับรู้และความคิดซึ่งเป็นท่าทีแห่งปัญญาหรือการมองตามเป็นจริงโยนิโสมนสิการเป็นหลักธรรมภาคปฏิบัติที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกเวลาและพึงใช้แทรกอยู่ในการดำเนินชีวิตประจำวันสำหรับบุคคลทั่วไปที่คิดเองไม่เป็นไม่รู้จักใช้โยนิโสมนสิการกัลยาณมิตรซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกจะเข้ามาช่วยเหลือ

บทสรุป 
ดังนั้นทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมรับผิดชอบในการหล่อหลอม ลูกหลานไทย มีอัตลักษณ์ของเยาวชนไทยยุคศตวรรษที่ 21 อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด



ความคิดเห็น

  1. เจริญพร ขออนุญาติ ทราบ ชื่อ นามสกุล ท่านที่เขียนบทความ นี้ ครับ

    ตอบลบ
  2. Track your spending: as is the case with any expenditure in สล็อต your life, you should always keep track of how much money you spend while playing สล็อต . Whether you have a budget app or you simply keep a spreadsheet of your spending, make sure that you include what you spend on สล็อตโจ๊กเกอร์ games.

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิกฤตการศึกษาไทยในยุค 4.0